ซีพีเอฟ ร่วมเวที สผ.-ภาคเอกชน ผนึกความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ซีพีเอฟ

เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี ในปีนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำของไทย อาทิ  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ   ปตท.สผ. เอสซีจี เคมิคอลส์  บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย)และบ. บุษราคัม ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด  ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับการดำเนินงานและพันธกรณีของประชาคมโลก

งานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม และ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “โลกขยับ ไทยปรับตัว : จาก Kunming-Montreal GBF สู่ยุทธศาสตร์การดําเนินงานของประเทศไทย” ณ ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์ บอลรูม โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ รวมประมาณ 300 คน

นายสุธี สมุทระประภูต   ผู้อำนวยการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร  ได้ประกาศเป้าหมายสู่ความยั่งยืน  CPF 2030  Sustainability in Action กระตุ้นการลงมือทำอย่างจริงจังในทุกมิติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญปัจจัยท้าทายดังกล่าว  ซีพีเอฟได้กำหนดให้ประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ  เป็น 1 ใน 7 หัวข้อหลักด้านความยั่งยืนที่ต้องให้ความสำคัญ สอดคล้องกับแนวทาง SDGs (Sustainability Development Goals : SDGs)ของสหประชาชาติ

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล ทั้งการลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ  อาทิ ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นบริหารจัดการ กำหนดนโยบายและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 5-7% ทางบก 15 % ซีพีเอฟดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในฟาร์มและโรงงานกว่า 5,000 ไร่ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี กว่า 7,000 ไร่ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” กว่า 2,700 ไร่ ใน และดำเนินโครงการ Restore The Ocean เพื่อลดขยะพลาสติกซึ่งเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นต้น

นอกจากนี้   มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน  ผ่านการดำเนินโครงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน อาทิ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชน  ต่อยอดจากโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร และ ตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง  การสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านตามวิถีธรรมชาติ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ  ต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งทุกโครงการสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต  สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม

“ความหลากหลายทางชีวภาพ  เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของเราทุกคน  ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และเร่งลงมือทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ” ผอ.ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟ กล่าว

ซีพีเอฟ ยังได้สนับสนุนและดำเนินงานด้านการปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพสอดคล้องกับกรอบคุนหมิง-มอนทรีออล(Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก มุ่งเน้นสร้างสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG Model  โดยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ เปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพสอดคล้องตาม GRI-Standard และดัชนีชี้วัดต่างๆ สนับสนุนข้อมูลความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืช สัตว์ นก  ผีเสื้อ เห็ด ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และสนับสนุนงานวิจัยการกักเก็บน้ำในดินจากโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า เป็นต้น ./

ทั้งนี้  องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น”วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”  หรือ International Day for Biological Diversity  ซึ่งปี 2023 กำหนดแนวทางจากข้อตกลงสู่การลงมือปฏิบัติ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ (From Agreement to Action: Build Back Biodiversity)เป็นการต่อยอดจากผลลัพธ์จากการยอมรับกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 15 (COP 15) ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมกับเป้าหมายในระดับโลก ด้วยการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการปกป้องและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ