1 ปี มหาดไทย ลุย “สำรวจ สะสาง เพื่อสร้างสุข” พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความ “ยากจน” รายครัวเรือน

1 ปี มหาดไทย

1 ปี มหาดไทย ลุย “สำรวจ สะสาง เพื่อสร้างสุข” พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความ “ยากจน” รายครัวเรือน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน  EP.01

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญที่คนมหาดไทยทุกคนจับมือร่วมกันกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง คือ “การพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ฐานข้อมูลในระบบ ThaiQM” ซึ่งกรมการปกครองได้พัฒนาขึ้น เพื่อหนุนเสริมเติมเต็มการสำรวจปัญหาความยากจนนอกเหนือจากระบบ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทยได้นิยามความหมายของคำว่า “ยากจน” คือ ทุกสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และมอบหมายให้ท่านนายอำเภอร่วมกับทีมงานของอำเภอ ทำการสำรวจสภาพปัญหาเพิ่มเติม จนเกิดเป็นเมนูแก้จนถึง 35 เมนูที่ครอบคลุมสภาพปัญหาทุกเรื่องของประชาชน

ปลัด มท.ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ ThaiQM ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนกว่า 12 ล้านปัญหา ใน 3.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งนับเป็นสถิติที่มากกว่าข้อมูลในระบบ TPMAP เดิมถึง 6 แสนครัวเรือน อันเป็นเครื่องยืนยันถึงแรงปรารถนาและความมุ่งมั่น (Passion) ของคนมหาดไทยและองคาพยพในพื้นที่ ในการบุกป่าฝ่าดงเข้าไปค้นหาปัญหา เข้าไปคลุกคลี เข้าไปติดตามถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของพี่น้องประชาชน เป็นผู้นำที่ทำงานจนร้องเท้าสึกก่อนเป้ากางเกงขาด คือ การเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หมั่นลงพื้นที่ไปหาประชาชนโดยไม่นั่งทำงานบนโต๊ะทำงานในห้องแอร์ ตามปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน

“จนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 1 ปีแล้ว ที่คนมหาดไทยนับเนื่องแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนากร ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ช่วยกันในการนำ “เป้าหมายการแก้จนรายครัวเรือน” มาวางแผนหาแนวทางการแก้ไขปัญหา แบบ “ยาไทย” คือ การแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ ติดอาวุธทางความคิด และฝึกอบรมอาชีพ ช่วยเหลือทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เขา “พึ่งพาตนเองได้” อย่างยั่งยืน ภายหลังจากที่ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันแก้ปัญหาแบบยาฝรั่ง คือ การแก้ไขในเบื้องต้นแล้วเสร็จเมื่อ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา แต่เราคำนึงถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนที่แม้เราจะมีทั้งยาฝรั่ง และยาไทยแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญประการถัดมา คือ “การติดตามประเมินผล” ที่เปรียบเสมือนการนิเทศงานของคุณครู ที่คอยหมั่นลงไปตรวจเยี่ยม ไปพบปะ ไปพูดคุย ผ่านกลไก “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ทั้งทีมที่เป็นทางการนำโดยปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลร่วมกับข้าราชการและบุคลากรในพื้นที่ รวมทั้งทีมจิตอาสาโดยพลังของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ จนถึงวันนี้นั้น “การแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงมหาดไทยมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ” โดยมีข้อมูลผลการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จำแนกตามลักษณะปัญหา 35 ปัญหา

ดังนี้ (1) ไม่มีบ้านอยู่ โดยบูรณาการภาคีเครือข่าย เช่น เทศบาล อบต. การเคหะแห่งชาติ เหล่ากาชาด รวมถึงภาคเอกชนและจิตอาสาในพื้นที่ สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์และงบประมาณ ในการสร้างบ้านใหม่ จัดหาบ้านเช่า รวมทั้งส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท โครงการจัดที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งและผู้สูงอายุ และการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 186,045 ครัวเรือน จาก 210,464 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.40

(2) บ้านมีสภาพชำรุด/ทรุดโทรม โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์จากภาคเอกชนและหน่วยงาน อปท. ในพื้นที่ และดำเนินการก่อสร้าง/ซ่อมแซมโดยทหาร สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และจิตอาสา ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 316,544 ครัวเรือน จาก 355,265 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.10 (3) ไม่มีส้วม โดยให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างห้องน้ำ ห้องส้วมให้ถูกสุขลักษณะ และร่วมกับ อปท. และภาคีเครือข่ายและผู้นำชุมชนในพื้นที่จัดหางบประมาณก่อสร้างห้องส้วมให้กับครัวเรือนที่ไม่มีห้องส้วม ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 189,115 ครัวเรือน จาก 211,299 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.50

(4) มีส้วม แต่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยร่วมมือกับสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. และ อสม. ลงพื้นที่ให้คำแนะนำจัดการส้วมให้ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ และร่วมกับ อปท. ปรับปรุงซ่อมแซมให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 376,034 ครัวเรือน จาก 416,237 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.34 (5) ไม่มีน้ำสะอาดดื่มอย่างเพียงพอตลอดปี โดยวางระบบประปาในพื้นที่ชุมชน จัดวางถังบรรจุน้ำไว้ตามจุดต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ติดตั้งเครื่องกรองน้ำและดำเนินการซ่อมแซมท่อประปาที่ชำรุดให้มีความสะอาด สามารถรับประทานได้ และร่วมกับ อปท. จัดทำแผนและสร้างโรงน้ำดื่มชุมชน ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 439,230 ครัวเรือน จาก 495,323 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.68

(6) ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอตลอดปี โดยทำการขยายเขตประปาหมู่บ้าน และซ่อมแซมท่อประปาที่ชำรุดให้มีความสะอาด และสนับสนุนให้หมู่บ้าน/ชุมชนจัดหาแหล่งน้ำได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นแหล่งน้ำกลาง อาทิ การขุดบ่อบาดาล จัดทำระบบประปาภูเขา และแนะนำวิธีการในการทำน้ำให้สะอาด สามารถใช้ในการบริโภค พร้อมทั้งวางแผนการสร้างระบบประปาชุมชนร่วมกับ อปท. ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 363,323 ครัวเรือน จาก 415,012 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 87.55

(7) ที่บ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขยะ น้ำเสีย ฯลฯ โดยบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการ/โรงงานแหล่งกำเนิดมลพิษ ติดตั้งเครื่องจับละอองฝุ่นตามจุดต่าง ๆ รวมถึงจัดทำ MOU ร่วมกันกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อลดปัญหามลพิษ แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดน้ำเสีย การแยกขยะมูลฝอย รณรงค์และบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เผาป่าและพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และประสานกับ อปท. ในการกำจัดขยะและจัดการน้ำเสียในหมู่บ้านชุมชน ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 443,220 ครัวเรือน จาก 502,206 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.25 (8) มีเด็กอายุ 3 – 5 ปี ไม่ได้เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยลงพื้นที่สอบถามปัญหาความเดือดร้อนและแนะนำแนวทางแก้ไข พร้อมช่วยประสานโรงเรียน และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการให้ความสำคัญของการศึกษาของบุตรหลาน แนะนำผู้ปกครองให้พาเด็กสมัครเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และให้การช่วยเหลือเพื่อนำเด็กเข้าโรงเรียน ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 208,318 ครัวเรือน จาก 276,940 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 75.22

(9) มีเด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้เรียนชั้นประถม/มัธยมศึกษาตอนต้น โดยลงไปแนะนำให้เข้าศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ (กศน.) และประสาน กศน. ในการให้คำแนะนำในการศึกษาต่อ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 263,365 ครัวเรือน จาก 295,089 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.25 (10) มีคนในครอบครัวเรียนจบ ม.3 และไม่ได้เรียนต่อ โดยลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน และแนะนำให้เข้าศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ (กศน.) และประสาน กศน. ในการให้คำแนะนำในการศึกษาต่อ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 445,295 ครัวเรือน จาก 490,837 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.72

(11) มีคนในครอบครัวไม่สามารถอ่าน เขียน ภาษาไทยได้ โดยแนะนำให้เข้าศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ (กศน.) และประสาน กศน. ในการให้คำแนะนำ จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมด้านการรู้หนังสือไทย อบรมแนะนำเรื่องการอ่าน เขียนภาษาไทยอย่างง่าย รวมถึงแนะนำให้คนในครัวเรือนและคนในชุมชนช่วยกันสอนให้สามารถอ่าน เขียน ภาษาไทย อย่างง่ายได้ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 327,545 ครัวเรือน จาก 365,967 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.50 (12) มีคนในครอบครัวไม่สามารถคิดเลขอย่างง่ายได้ โดยแนะนำให้เข้าศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ (กศน.) และประสาน กศน. ในการให้คำแนะนำ รวมถึงแนะนำให้คนในครัวเรือนและคนในชุมชนช่วยกันสอนให้สามารถคิดเลขอย่างง่ายได้ และประสานผู้นำชุมชนจัดหาบุคลากรให้ความรู้ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 314,099 ครัวเรือน จาก 351,144 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.45

(13) มีคนวัยทำงานในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ต่ำกว่า 40,000 บาท โดยแนะนำให้ความรู้วิธีสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริม มีโครงการเงินกู้แบบดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ แนะนำการใช้จ่ายเงิน และการสร้างรายได้โดยพัฒนากรลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านการประกอบอาชีพ อาชีพเสริม การออม การจัดทำบัญชีครัวเรือน มอบพันธุ์ผักสวนครัว เพื่อลดรายจ่าย ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 321,630 ครัวเรือน จาก 355,847 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.38

(14) มีคนอายุ 15-59 ปี ไม่มีอาชีพและรายได้ โดยฝึกอาชีพและทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานหรือวิทยาลัยการอาชีพในพื้นที่ ส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการประกอบอาชีพเพื่อมีอาชีพเสริม เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ การฝึกกลุ่มอาชีพ การขายของออนไลน์/สินค้า OTOP การลดต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร ประสานพัฒนาชุมชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างงานและอาชีพ ให้มีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้แก่ตนเองและครอบครัว รวมถึงหาแหล่งประกอบอาชีพให้ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 321,630 ครัวเรือน จาก 355,847 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.38 (15) มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีอาชีพและรายได้ โดยจัดอบรมส่งเสริมวิชาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงหาแหล่งประกอบอาชีพให้ ซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว 567,746 ครัวเรือน 623,863 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 91.00

นี่คือส่วนหนึ่งของ 15 เมนูแก้จน จาก 35 เมนู ที่มหาดไทยได้ลุยแก้ไขให้พี่น้องไปแล้ว สัปดาห์หน้าจะฉายอีก 20 เมนูที่กระทรวงมหาดไทยได้แก้ปัญหา ติดตามและประเมินผลให้เกิดความยั่งยืน