
เมืองอโยธยา ต้นแบบกรุงรัตนโกสินทร์
เมืองอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) เป็นต้นแบบให้ไทยในหลายเรื่อง ได้แก่ กรุงรัตนโกสินทร์, พระราม, เถรวาท, คนไทย, วรรณกรรมภาษาไทย
ผังเมืองอโยธยา (กรอบขาว ขนาด1,400 x 3,100 เมตร) จากภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2497 ตรวจสอบและจัดทำ โดย พเยาว์ เข็มนาค
กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ต้นแบบจากกรุงอโยธยา ถ้าสืบย้อนหลังทางตรง มีดังนี้
- กรุงรัตนโกสินทร์-กรุงธนบุรี-กรุงศรีอยุธยา-กรุงอโยธยา ส่วนย้อนหลังกรุงอโยธยาไม่เป็นทางตรง แต่เป็นแพร่ง
แยกหลายทิศทางมารวมศูนย์ที่เมืองอโยธยา
[“กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ล้วนเรื่องไม่จริง แต่เป็น “เรื่องแต่ง” เพื่อการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” จึงจัดอยู่ในข่าย “เฟกนิวส์” ที่รัฐบาลไทยสมัยก่อนใช้เป็นอาวุธทางการเมือง “หลอก” คนไทย แล้วยังตาม “หลอน” สืบมาจนถึงสมัยนี้]
- พระราม เป็นความเชื่อได้ต้นแบบจากอโยธยา นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” มีศูนย์กลางอยู่เมืองอโยธยา
“อโยธยา” เป็นชื่อเมืองพระราม (อวตารของพระนารายณ์) หมายถึงเมืองที่ไม่แพ้หรือไม่มีผู้ใดพิชิตได้ ส่วนพระรามในมหากาพย์รามายณะถูกกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่นคงทรงพลังอำนาจ จึงมีความมั่งคั่งอย่างยิ่ง
ต่อมาเกิดโรคระบาดเมืองอโยธยา (กาฬโรค) หลังจากนั้นสถาปนาศูนย์กลางแห่งใหม่ พบร่องรอยแก้อาถรรพณ์ด้วยการขนานนามเมืองเสียใหม่ว่า “กรุงศรีอยุธยา” (พ.ศ.1893) แล้วเฉลิมพระนามกษัตริย์ว่า “รามาธิบดี”
พระรามาธิบดี เป็น กษัตริย์องค์สุดท้าย ของรัฐอโยธยา จากนั้นเป็น กษัตริย์องค์แรก ของรัฐอยุธยา ความเชื่อพระรามสืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์
- เถรวาท ได้ต้นแบบจากอโยธยา
ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกาแม้จะมีก่อนแล้ว แต่รุ่งเรืองอย่างรุ่งโรจน์ในรัฐอโยธยา เพราะแนวคิดเรื่อง “ผู้มีบุญ” คนทำบุญสะสมมาก ย่อมมีบารมีได้เป็นพระราชา สอดคล้องกับการค้าสำเภากับจีน ทำให้พ่อค้าเป็น “ผู้มีบุญ” และมีอำนาจ
- คนไทย เริ่มต้นแบบที่อโยธยา
คนหลายชาติพันธุ์ในอโยธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้ากับบ้านเมืองภายในภาคพื้นทวีปและทางศาสนา นานไปก็พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย หรือ คนไทย
(1.) ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้ากับดินแดนที่อยู่ภายใน (เช่น ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม, ลุ่มน้ำแยงซีในจีน เป็นต้น) เพื่อขนย้ายทรัพยากร (เช่น ของป่า) ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นสินค้าส่งขายกับจีนที่กำลังขยายกว้างขวางมากทางการค้าสำเภา และ
(2.) ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการเผยแผ่ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ซึ่งรัฐ อโยธยานับถือเป็นหลัก (โดยผสมกลมกลืนกับศาสนาผีและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)
ราชสำนักอโยธยาศรีรามเทพ มีเจ้านายเป็นเครือญาติอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1.) เจ้านายพูดภาษาเขมร (เป็น “ขอม”) จากรัฐละโว้ (ที่ลพบุรี) กับ (2.) เจ้านายพูดภาษาไทย (เป็น “สยาม”) จากรัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี)
ส่วนขุนนางข้าราชการชนชั้นนำประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ต่างมีภาษาพูดหลายตระกูลของใครของมัน (เช่น ตระกูลภาษามอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ทิเบต-พม่า, ไท-ไต เป็นต้น) โดยใช้ภาษาไทย (ต้นตอจากภาษาไท-ไต) เป็นภาษากลางเพื่อการสื่อสารเข้าใจตรงกัน
เมืองอโยธยาสุ่มเสี่ยงสาบสูญ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการทำลาย (ซ้าย) ทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา (ในวงกลม) อยู่ในเมืองอโยธยา ริมแม่น้ำป่าสัก (ขวา) เกาะเมืองอยุธยาบริเวณหัวรอและวังจันทรเกษม (วังหน้า)
- วรรณกรรมภาษาไทย มีต้นแบบจากวรรณกรรมอโยธยา ได้แก่
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีสำนวนเก่ามากสมัยอโยธยา ราว 115 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทำขึ้นราว พ.ศ.1778 [ในต้นฉบับกฎหมายลงศักราช 1156 ปีมะแมได้จากการคำนวณของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 45-47) และจากการตรวจสอบสนับสนุนของ ล้อม เพ็งแก้ว (ในบทความเรื่อง “วันเดือนปีในกฎหมายที่ได้ตราขึ้นก่อนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา” พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2529 หน้า 42-44)]
คำว่า “เบ็ดเสร็จ” ตรงกับคำปัจจุบันว่าเบ็ดเตล็ด หมายถึงกฎหมายหลายเรื่องต่างๆ กันที่นำมารวมไว้ด้วยกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด เพราะเป็นเรื่องย่อยๆ ทั้งนั้น
บรรดากฎหมายและเอกสารสำคัญทั้งหลายจึงเขียนด้วยอักษรเขมร (เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอักษรไทย) แต่งเป็นภาษาไทย (ลักษณะอย่างนี้เรียก “ขอมไทย”) เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในหมู่ชนชั้นนำซึ่งประกอบด้วยเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการหลายเผ่าพันธุ์
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพื้นฐานสังคมรัฐอโยธยามีสำนึกทางกฎหมายก้าวหน้าขั้นสูง คือไม่ใช้ระบบแก้แค้นตามแบบสังคมดึกดำบรรพ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “หนามยอก หนามบ่ง” กล่าวคือเมื่อผู้หนึ่งถูกฟันแขนขาดก็ต้องตัดสินโดยการตอบโต้ให้ฟันอีกฝ่ายหนึ่งแขนขาดบ้าง ซึ่งเป็นสำนึกแบบแก้แค้นด้วยการกระทำตอบแทนอย่างเดียวกัน แต่สังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยาพัฒนาเสียใหม่โดยกำหนดให้ผู้ผิดเสียเงินสินไหมชดเชยเป็นค่าเสียหาย
[ร. แลงกาต์ (นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์กฎหมายโบราณของไทย) อ้างในหนังสือ สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 51-54]
(เขียนโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 – 27 เมษายน 2566)
ยังมีข้อมูลมากกว่านี้อีก
ในทริปสุด Exclusive สำหรับแฟนรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว!
“MIC HOLIDAY TRIP เมืองอโยธยา ต้นแบบกรุงรัตนโกสินทร์”
จัดโดย ศูนย์ข้อมูลมติชน X ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว และ Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
ชวนฟังเรื่องราวก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
พาชมร่องรอยเมืองอโยธยาที่เก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัย
ที่อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านตะวันออกที่ติดแม่น้ำป่าสัก
พิเศษ! ฟังการบรรยายเรื่อง “เมืองอโยธยา ต้นแบบกรุงรัตนโกสินทร์” จาก สุจิตต์ วงษ์เทศ
นำชมตลอดทริปโดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
อาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566
เวลา 07.00 -18.00 น.
ราคา 2,600 บาท/ท่าน (ราคารวมค่าเดินทาง, ค่าอาหารกลางวัน และค่าเข้าชม)
เดินทางโดยรถบัส
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 11/09115
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณหญิง โทร. 092-246-4140
สำรองที่นั่ง Add LINE คลิก หรือ LINE ID : MatichonMIC
หรือ Facebook MatichonMIC
ช่องทางการชำระเงิน
ธนาคารกสิกรไทย
ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
เลขที่บัญชี 737-2-12587-4