“สุขสยาม” เมืองมหัศจรรย์แห่ง”ไอคอนสยาม” ทุ่ม 700 ล. ชูค้าปลีกใหม่ “Co-Creation” สานวิถีท้องถิ่น

ไอคอนสยาม

ไอคอนสยาม สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามูลค่า 54,000 ล้านบาท พร้อมจะเปิดให้บริการในปลายปีนี้ เปิดตัว ‘สุขสยาม’ หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของไอคอนสยาม มูลค่าการลงทุน 700 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็นเมืองแห่งมนต์เสน่ห์มหัศจรรย์วิถีไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาเยี่ยมเยือนปีละ 21.9 ล้านคน

โดยนำเสนอคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Co-Creation’ หรือการร่วมกันรังสรรค์ คือผนึกกำลังพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วไทย รวมพลังความคิดสร้างสรรค์กันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อนำเสนอสิ่งที่น่าตื่นเต้นและมีคุณค่าเข้าถึงใจคนอย่างแท้จริง

นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารโครงการไอคอนสยาม กล่าวว่า “เราได้จัดสรรพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 10 ไร่ บนชั้นล่างสุด (หรือชั้น G) ของไอคอนสยาม ให้เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งวิถีไทย ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สุขสยาม’ นำเสนอผลิตภัณฑ์และผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย งานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมของแท้จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยไว้ในพื้นที่เดียวกัน โดยนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ น่าตื่นตาตื่นใจ บันเทิงสร้างสรรค์ เข้าใจและเข้าถึงได้ ให้ความรู้สึกกลมกลืนเหมือนอยู่ในสถานที่จริง ทั้งนี้ เป็นการเดินหน้าสานต่อพันธกิจที่มีมาตลอดเกือบ 60 ปีของสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ และเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย ที่นำเสนอปรากฏการณ์แปลกใหม่ให้แก่วงการค้าปลีกของประเทศไทย ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าเสมอ”

ไอคอนสยาม
(ซ้าย) นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด

“สุขสยาม”  เป็นหนึ่งในพันธสัญญาและความมุ่งมั่นตั้งใจของไอคอนสยามที่จะรวบรวมทุกสิ่งดีงามจากทั่วประเทศไทยนำเสนอสู่สายตาชาวโลก อีกทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยได้ภูมิใจในศักยภาพและพลังของความเป็นไทย ร่วมสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา และชีวิตวิถีไทยให้คงอยู่และส่งต่อคนรุ่นหลัง ส่งเสริมให้ผู้ผลิตจากท้องถิ่นต่างๆ มีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองและมีแรงบันดาลใจที่จะรักษาสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดย ‘สุขสยาม’ จะทำหน้าที่เป็นเวทีในการนำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทยแสดง ผลงานอันน่าภาคภูมิใจให้เป็นที่ประจักษ์ อันเป็นการดำเนินธุรกิจในกลไกของระบบนิเวศทางการค้า (commercial ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน” นางชฎาทิพกล่าว

‘สุขสยาม’ เป็นพื้นที่ที่ไอคอนสยามตั้งใจรังสรรค์ขึ้นเพื่อนำเสนอมหัศจรรย์วิถีไทย มรดกทางวัฒนธรรมของทั้งสี่ภูมิภาคหลักของประเทศ และไม่ว่าจะเป็น อาหาร งานศิลปะ หัตถกรรมงานฝีมือ เวชศาสตร์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพื้นที่ของ ‘สุขสยาม’ จะประกอบไปด้วยร้านค้าและบริการหลากหลายมากกว่า 3,000 ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นำเสนอในบรรยากาศแวดล้อมที่สะท้อนรูปแบบวิถีชีวิตพื้นบ้านอันงดงาม ในแต่ละภูมิภาค เป็นพื้นที่เชิงวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งใหม่ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาสัมผัสอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยได้ในที่เดียว

นางชฎาทิพ กล่าวว่า “สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งทำให้สุขสยามแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือความเป็นของแท้และเป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่แท้จริง โดยร้านค้าใน ‘สุขสยาม’ จะเป็นร้านค้าท้องถิ่นมีอยู่จริงในหมู่บ้านหรือในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย เป็นกิจการค้าขาย ของครอบครัวที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีชื่อเสียงอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ หรือเป็นร้านค้าที่มีเรื่องราวพิเศษ เป็นรากที่หยั่งลึกแข็งแรงของชุมชนท้องถิ่น เพียงแต่กิจการร้านค้าเหล่านั้น ยังไม่มีโอกาสได้นำเสนอคุณค่าของภูมิปัญญาและคุณภาพของสินค้าอันน่าภาคภูมิใจ ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับโลก เราจึงได้เชิญต้นตำรับตัวจริงเหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ที่ ‘สุขสยาม’”

‘สุขสยาม’ อยู่ในระหว่างการเนรมิตขึ้นโดยการนำของนางลักขณา นะวิโรจน์ ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการเลือกสรรสุดยอดสินค้าและอาหารที่ดีที่สุดของแท้ต้นตำรับจากทั่วประเทศไทย และเป็นนักพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นมากว่า 30 ปี

นางลักขณา กล่าวว่า ร้านค้าใน ‘สุขสยาม’ มีร้านจริงต้นตำรับดั้งเดิม มีจุดกำเนิดมาจากชุมชนท้องถิ่นทั่วไทย เป็นกิจการที่มีเรื่องราวความเป็นมาและเสน่ห์เฉพาะที่น่าศึกษาทั้งสิ้น ตั้งอยู่ในหมู่บ้านตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าของครอบครัวที่ดำเนินกิจการสืบต่อกันมาหลายรุ่น

“เราเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อค้นหาร้านค้าที่มีความพิเศษ ช่างฝีมือและศิลปินผู้เป็นที่เชิดหน้าชูตา ของท้องถิ่น เชิญพวกเขามาร่วมนำเสนอผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจและเป็นรากของท้องถิ่นนั้นๆ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นบนพื้นที่ ‘สุขสยาม’ โดย ‘สุขสยาม’ จะทำหน้าที่เป็นเวทีที่น่าตื่นตาตื่นใจ เปิดโอกาสให้กับคนไทยจากทั่วประเทศที่มีความพิเศษ มีฝีมือและมีความสามารถได้นำเสนอพรสวรรค์และสุดยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองให้โลกรู้จัก รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายด้วย”

“ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยือน ‘สุขสยาม’ จะได้สัมผัสกับประสบการณ์แห่งมหัศจรรย์วิถีไทยเป็นสถานที่ๆ จะนำเสนอความสุขในมิติต่างๆ ครบทุกอรรถรส และยังสามารถซื้อของดีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีอยู่มากมายตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย” นางลักขณา กล่าว

นางลักขณา กล่าวว่า “พลังความสุขในชีวิตการทำงานของดิฉัน คือการได้ทำงานกับคนที่มีฝีมือและพรสวรรค์ แต่เป็นคนเรียบง่าย วิริยะอุตสาหะ คนที่เป็นตำนานอยู่ในท้องถิ่นของเขา แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผลงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าของพวกเขา ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การทำโครงการ  ‘สุขสยาม’ เปิดโอกาสให้ดิฉันได้ทำตามความฝันและเติมเต็มเป้าหมายในชีวิตที่จะช่วยนำเสนอ  ภูมิปัญญาไทย และความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตดั้งเดิมของแท้ของไทย ประกาศให้ทั้งชาวไทยและชาวโลกได้รับรู้และร่วมชื่นชม ตลอดจนสืบสานมรดกของชาติที่อยู่ในสายเลือดของผู้คนที่สำคัญเหล่านั้นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”

ไอคอนสยาม
ภาพจำลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาของอาณาจักรไอคอนสยาม เปิดตัว พ.ย.นี้

สืบสานและส่งต่อมรดกของชาติ

นางลักขณา กล่าวว่า นอกจากการช่วยให้ยอดฝีมือคนไทยมีพื้นที่นำเสนอผลงานแล้ว จุดมุ่งหมายของเราอีกประการหนึ่งคือการช่วยอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทย และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทยที่กำลังจะเสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็ว ช่วยสืบสานและส่งต่อให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนโดยสุขสยามจะเป็นเวทีที่สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่อยากจะสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษให้ดำรงอยู่ต่อไปและสร้างให้เป็นร้านค้าหรือกิจการที่ใหญ่ขึ้น นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่พวกเขาจะสามารถสานต่อวิถีแห่งความภาคภูมิใจของครอบครัวต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของวิถีชีวิตไทยให้คงอยู่ต่อไป

แต่หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีโอกาสในการขยับขยายธุรกิจ หรือไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศทางการค้า (commercial ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่มีผู้สนใจสนับสนุนผลงานของศิลปินและช่างฝีมือเหล่านี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ทายาทรุ่นต่อไปจะละทิ้งอาชีพดั้งเดิม แล้วหันไปทำอาชีพอื่น ซึ่งสุดท้ายแล้ว มรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ที่เป็นเอกลักษณ์ไทยที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จะสูญหายไปอย่างถาวร

ทั้งหมดนี้ จะทำให้     ‘สุขสยาม’ กลายเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมองค์ความรู้ในทุกมิติของประเทศไทย (Knowledge Hub) ทั้งอาหาร เวชศาสตร์ ศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม หัตถกรรม ที่ครบครันที่สุดอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

Co-Creation

 นางชฎาทิพ กล่าวว่า ‘สุขสยาม’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า   ‘Co-Creation’ หรือการร่วมกันรังสรรค์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไอคอนสยามซึ่งบริหารงานโดยสยามพิวรรธน์ ยึดถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและออกแบบไอคอนสยามทั้งโครงการ

นางชฎาทิพ กล่าวว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับไอคอนสยาม ไม่ว่าจะสถาปนิก มัณฑนากร นักวิชาการ และศิลปินแขนงต่างๆ ทั่วประเทศไทย ที่มาร่วมคิด ร่วมวางแผน แลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันทำงานในกระบวนการออกแบบและการพัฒนาโครงการของเราตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนเรียกได้ว่าไอคอนสยามถูกเนรมิตขึ้นจากความร่วมมือของผู้มีความรู้ความสามารถและพันธมิตรหลายพันรายร่วมกันรังสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ และ ‘สุขสยาม’ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของแนวคิด ‘Co-Creation’ เพราะสิ่งพิเศษทั้งหมดที่จะถูกนำเสนอใน ‘สุขสยาม’ ล้วนเป็นแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของคนไทยผู้มีฝีมือทั้งสิ้น

โดยเราจะ ‘ร่วมรังสรรค์’ กับเจ้าของกิจการร้านค้าและเจ้าของผลงานเหล่านี้  ด้วยการแบ่งปันความรู้ของเราเกี่ยวกับการทำการตลาดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดสมัยใหม่อย่างครบวงจร ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ตลอดจนให้การสนับสนุนทางด้านนวัตกรรมและเครื่องมือการส่งเสริมการตลาดและค้าปลีก เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และในขณะเดียวกัน เรายังทำหน้าที่เป็น ‘Curator’ คือ ‘ร่วมเลือกสรร’ สินค้าและบริการต่างๆ ที่จะนำเสนอ ณ ‘สุขสยาม’  ซึ่งมีวิธีการนำเสนอผลงานนั้นๆ ให้ออกมาน่าตื่นเต้นและดึงดูดใจ ผ่านการทำ Story Telling คือบอกเล่าเรื่องราวของภูมิปัญญาแต่ละเรื่องให้สะท้อนถึงคุณค่าของสินค้าและบริการนั้นๆ ได้อย่างน่าประทับใจ”

“แนวคิด ‘Co-Creation’ นี้ เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่าง Developers หรือผู้พัฒนาโครงการ กับ Co-Creator หรือ ผู้ร่วมรังสรรค์ อย่างที่เราและผู้ประกอบการทั้งหมดทุกขนาดในไอคอนสยามได้ร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งแนวคิดนี้เป็นรูปแบบใหม่ของธุรกิจค้าปลีกในอนาคตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งนี้ไอคอนสยามได้สะท้อนความเชื่อหลักของเราที่ว่าความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทุกภาคส่วน จะเป็นหนทางเดียวที่นำพาธุรกิจค้าปลีกให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต” นางชฎาทิพ กล่าว

นายชยะพงส์ นะวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการสุขสยาม กล่าวว่า “โครงการ สุขสยาม’ ช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำเสนอสินค้าได้ตลอด 365 วัน อีกทั้งจะช่วยด้าน   การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรและชาวบ้าน รวมถึงการสนับสนุนในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีกและค้าส่ง  สู่ต่างประเทศ การตลาดในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร (Omni Channel) อันเป็นการดำเนินธุรกิจในกลไกของระบบนิเวศทางการค้า (Commercial Ecosystem) ที่มีการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น”

 “ศิลปินไทยท้องถิ่นจากสี่ภาคทั่วประเทศกว่า 200 ชีวิต ได้รวมพลังกันรังสรรค์และออกแบบ ‘สุขสยาม’ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นชุมชนช่างศิลป์ เผยแพร่ภูมิปัญญางานศิลป์จากท้องถิ่นให้ผู้มาเยือนได้ร่วมชื่นชมและเรียนรู้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ ศิลปวัฒนธรรม การแสดง การละเล่นต่างๆ

สุขสยามที่เต็มไปด้วยความงดงามและความสนุกสนาน จะถูกนำเสนออย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบที่มอบความเพลิดเพลินและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น สับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งปี สุขสยามคือเมืองสารพัดสุข สนุกแบบไทย ครบทุกมิติใน 7 สุข คือ สุขเสน่ห์ สุขแซ่บ สุขสนุก สุขสร้างสรรค์ สุขสัมพันธ์ สุขสืบสาน และสุขสมหวัง”

นายชยะพงส์ กล่าวว่า ผู้มาเยือน ‘สุขสยาม’ จะได้พบกับประสบการณ์สุดตื่นตาตื่นใจ จากวิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ทันสมัย ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีล้ำยุค และซอฟต์แวร์อินเตอร์แอคทีฟในการนำเสนอ ทำให้ผู้มาเยือน ‘สุขสยาม’ ได้เข้าถึงคุณค่าและสัมผัสกับ  จิตวิญญานของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะแรงบันดาลใจต่อยอดให้อยากไปเยือนสถานที่จริงอีกด้วย”

นี่คือสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ของคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาช่วยสืบสานและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยวิธีการนำเสนอที่ง่ายต่อการเข้าใจและเข้าถึง