ม.ราชพฤกษ์ เปิดศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี ปลูก 9 สายพันธุ์ดั้งเดิม

ม.ราชพฤกษ์ เปิดศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี ปลูก 9 สายพันธุ์ดั้งเดิม

มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ จัดพื้นที่ว่างเปล่าภายในมหาวิทยาลัย ปลูกทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของนนทบุรี 9 สายพันธุ์ พร้อมเปิดศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นิสิต-ประชาชน

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในภูมิหลังของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสวนทุเรียนดั้งเดิมในอดีต ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติของสายพันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์มายาวนาน รวมทั้งเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ในปัจจุบัน ที่รายล้อมด้วยธรรมชาติของความเป็นสวนทุเรียน ดร.วิภาพรรณ ชูทรัพย์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันในเครือตั้งตรงจิตร และผู้รับใบอนุญาตมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ และ ดร.อณาวุฒิ ชูทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ พร้อมด้วยผู้บริหารของมหาวิทยาลัย จึงเห็นพ้องให้จัดพื้นที่ดินว่างเปล่าภายในมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี

โดยในปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์มีแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวเพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่น่าอยู่ น่าเรียน รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาภูมิรู้ทุกด้าน จึงจัดพื้นที่ดินว่างเปล่าภายในมหาวิทยาลัย สร้างแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และความเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งปลูกทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองนนท์ จำนวน 9 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว หมอนทอง เม็ดในยายปราง ย่ำมะหวาด กบสุวรรณ กบชายน้ำ กระดุม ลวง และ พันธุ์กะเทยเนื้อขาว

และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ได้รับเกียรติจาก นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรี ณ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ เลขที่ 9 ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นิสิตและประชาชนได้ศึกษาต่อไป