
สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง หรือ Thai Professional Pest Management Association (Thai Propma) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พร้อมเลือกตั้งนายกสมาคมฯ คนใหม่ โดยมี ‘นายเฉลิม ถาวรพานิช’ ชนะโหวตต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ประกาศเดินหน้ายกระดับการกำจัดแมลง ชูกลยุทธ์ธุรกิจลุยตลาดผลิตภัณฑ์-บริษัทกำจัดแมลง

นายเฉลิม ถาวรพานิช นายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง เผยว่า การศึกษาข้อมูลจากรายงานดัชนีค้าปลีกของ Nielsen ปี 2562 พบว่า ตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 2,550 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มกำจัดแมลงรวมร้อยละ 59 กลุ่มกำจัดปลวก-แมลงคลานร้อยละ 24 และกลุ่มกำจัดยุงร้อยละ 17 เมื่อผนวกกับข่าวสารด้านงานวิจัยของแบรนด์ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ปลวก มด ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์หรือน้ำยากำจัดแมลง ที่มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งาน ไม่มีกลิ่นฉุน มีความปลอดภัยสูง ตลอดจนมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลดังกล่าว บ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง-บริษัทรับกำจัดแมลง ยังมีช่องว่างและ โอกาสในเติบโต ดังนั้น สมาคมฯ จึงดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ เดินหน้าสร้างศักยภาพให้มวลสมาชิกที่เป็นเจ้า ของธุรกิจ ได้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันนโยบายพัฒนาการบริการที่ผสานองค์ความรู้ ต่อยอดทักษะ นำไปสู่การยกระดับบริการที่มีมาตรฐานและสร้างมูลค่าสูงขึ้น
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ร้อนชื้น ส่งผลให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลง เช่น มด ยุง ปลวก แมลงสาบ เป็นต้น วิธีแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคหรือผู้อยู่อาศัยปราศจากการมีแมลงมารบกวนมีอยู่ 2 วิธี คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ มากำจัดแมลงเอง และการเลือกใช้บริการบริษัทรับกำจัดแมลง ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีของแต่ละบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจรับกำจัดแมลง ปลวก มด เพื่อวางกลยุทธ์ตลาดเข้าช่วงชิงผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทตนเองได้” นายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง กล่าว
นายเฉลิม กล่าวต่อไปอีกว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ระหว่างวันที่ 1-25 เดือนมกราคม ปี 2567 มีบริษัทไปยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลด้านการทำธุรกิจประเภทกิจการการฆ่าเชื้อและกำจัดเพิ่มอีก 5 ราย สอดรับกับข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส องค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ด้านศูนย์ข้อมูลวิจัยฯ ออกมาชี้แจงถึงทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย 2567 หลังจากลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยตลอดจนถึงสิ้นปี 2566 พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยขาย (ที่อยู่อาศัย) เปิดใหม่ 101,536 หน่วย ถึงแม้จะน้อยกว่าปี 2565 ร้อยละ 5.2 (จำนวน 107,090 หน่วย) ทว่าเป็นการลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากไม่มีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดราคาถูก (ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท) แสดงให้เห็นว่าตลาดอสังหาฯ ไทยกำลังฟื้นตัว ไม่ได้กำลังหดตัว
“จากข้อมูลข้างต้น สมาคมฯ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกติดตามข่าวสารด้านงานวิจัยที่มีส่วน เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับบริการกำจัดแมลง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แบรนด์ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง รวมถึงแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค-ธุรกิจอสังหาฯ โดยนำข้อมูลมาต่อยอด วางแผนกลยุทธ์การตลาด ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทย์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้นต่อไป”

ด้าน นายธนาววุฒิ ศิริเรือง อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง กล่าวว่า ความรู้สาธารณะด้านกำจัดแมลงยังคงมีไม่มาก สมาคมฯ ในฐานะแกนหลักของสาขาอาชีพ จึงผสานองค์ความรู้ จากผู้ประกอบการในสมาคมฯ ซึ่งมีความชำนาญและมากประสบการณ์ ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจและถ่ายทอดองค์ ความรู้ให้ภาคประชาชน ไปจนถึงสร้างการบริการด้านกำจัดแมลง ที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนสังคมและส่งเสริม ด้านสาธารณสุข โดยเข้าไปช่วยจัดการด้านแมลงให้กับสถานศึกษา-ชุมชน เช่น การกำจัดยุงลายให้กับโรงเรียนและวัด เป็นต้น
สำหรับปี 2567 ยังคงมุ่งสานต่อภารกิจทั้งหมด 9 แผนการ ทว่าสิ่งที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด คือ การจัดสัมมนาวิชาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เนื่องจากภูมิภาคนี้ยังขาดจุดศูนย์กลางของอาชีพ ดังนั้น สมาคมฯ จึงเข้าไปเป็นตัวกลางเชื่อมกับภาคประชาชน โดยมุ่งให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังให้ ความรู้กับประชาชน-ผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดแมลงทางภาคอีสาน พร้อมกระจายองค์ความรู้ไปสู่ทั่วทุกภาคของประเทศ

นายสุทิยา ศิริเจริญ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมฯ กล่าวเสริมว่า สมาคมฯ มุ่งยกระดับมาตรฐานการ กำจัดแมลงของประเทศไทย ดังนั้น จึงจัดทำหนังสือคู่มือกำจัดแมลงแจกจ่าย ให้สมาชิกของสมาคมและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังจัดอบรมหลักวิชาการให้สมาชิกอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อยกระดับบุคลากร ในการปฏิบัติและการบริหาร ควบคู่กับการส่งเสริมให้ใช้เคมีที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำไปสู่การ ยกระดับมาตรฐานการบริการส่งตรงถึงผู้บริโภค
“เป้าหมายต่อไป คือ การขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก รวมถึงกำจัดหนูตามพื้นที่ต่างๆ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฉี่หนู โดยทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยมาตรฐานของสมาคมฯ กล่าวคือ เลือกใช้สารเคมีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม ไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศ” ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมฯ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘กฎหมายแรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้และควรระวัง’ โดย อ.เชิดศักดิ์ กำปั่นทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมายนิติกรรมและสัญญา ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น นายพงษ์พันธ์ อติชาติภัสสร กรรมการผู้จัดการ บ.เร็นโทคิล อินนิเชียล ประเทศไทย ร่วมด้วย นายศรัณยู กุลทรัพย์ตระกูล กรรมการฝ่ายต่างประเทศ บริษัท แอ๊ดวานซ์ กรุ๊ป เอเซีย จำกัด และสมาชิกของสมาคมฯ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติอีกมากมาย

นายพงษ์พันธ์ อติชาติภัสสร กรรมการผู้จัดการ บ.เร็นโทคิล อินนิเชียล ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจโตขึ้นประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลัก คือ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตและมีสัญญาณที่ดีขึ้น ด้านบริษัทฯ มีการปรับตัวธุรกิจให้สอดรับ กับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งให้ความสำคัญกับลูกค้า โดยเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากการกำจัด แมลงนั้นเกี่ยวข้องกับสารเคมีโดยตรง
“เราวางจุดยืนของบริษัทฯ ให้แตกต่างอย่างชัดเจน โดยปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งยังมีความเข้าใจลูกค้า และมอบประสบการณ์ที่ดี ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจนก้าวเข้ามาเป็นบริษัทอินเตอร์เนชันแนลอันดับต้นๆ นอกจากนี้ วางเป้าหมายระยะยาวไว้ว่าธุรกิจกำจัดแมลงรบกวน จะสามารถเทียบกับผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ GDP ได้ กล่าวคือโตขึ้นประมาณ 2 เท่าของ GDP โดยคาดการไว้จะเติบโตประมาณร้อยละ 2-3 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และปัจจัยภายนอกด้วย” นายพงษ์พันธ์ ทิ้งท้าย