
“ไข้หวัดใหญ่” หนึ่งในโรคที่ไม่ว่าใครต่างก็เคยได้ยิน เมื่อขึ้นชื่อว่าไข้หวัดหลายคนอาจจะมองว่าเป็นโรคธรรมดาที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงอะไร แต่ในบางครั้งอาการไข้หวัดใหญ่ก็มีรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ดังนั้นเมื่อรู้สึกป่วยและมีอาการไข้หวัดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงดังเดิม
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคอะไร มีกี่สายพันธุ์บ้าง?
ไข้หวัดใหญ่(Influenza) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่าที่สามารถแพร่กระจายตามระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก คอ ปอด ได้ แม้ว่าอาการไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่าโรคหวัดทั่วไป แต่สามารถหายเองได้ในระยะเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะทำให้อาการของไข้หวัดใหญ่รุนแรงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มาพร้อมกับสายฝนหรือลมหนาว ทำให้ในช่วงฤดูกาลดังกล่าวจะพบผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เยอะ ในปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มนุษย์สามารถติดเชื้อแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ สายพันธุ์ A, สายพันธุ์ B และสายพันธุ์ C ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน ดังนี้
- อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A : เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายและรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์เดียวที่สามารถแพร่เชื้อในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกเหนือจากมนุษย์ได้ ทั้งยังสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอด จึงนับว่าเป็นสายพันธุ์ที่ควรระวังเป็นพิเศษ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ได้ เช่น H1N1 H3N2 เป็นต้น
- อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B : เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง แต่อาการไม่ได้รุนแรงเท่าและไม่ก่อให้เกิดโรคระบาดเป็นวงกว้างอย่างสายพันธุ์ A แต่มักจะแพร่เชื้อได้ดีในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว โดยสายพันธุ์ย่อยที่มักพบได้แก่ B Victoria B Yamagata เป็นต้น
- อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C : เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีโอกาสพบน้อยมาก โดยจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A และ B มาก ในบางครั้งอาจไม่แสดงอาการ และไม่ก่อให้เกิดโรคระบาด
ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้อย่างไร
เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
- อากาศ – อาจจะได้รับเชื้อไวรัสจากผู้ที่ไอ จาม หายใจรดกัน พูดต่อหน้า เป็นต้น
- น้ำลาย – ติดเชื้อไวรัสจากการใช้ช้อนส้อมคันเดียวกัน ดื่มน้ำขวดเดียวกัน สัมผัสละอองน้ำลาย เป็นต้น
- สารคัดหลั่ง – เมื่อสัมผัสถูกน้ำมูกที่มีเชื้อแล้วสัมผัสตามผิวหน้าอาจทำให้มีอาการไข้หวัดใหญ่ได้
นอกจากนี้แล้ว ไข้หวัดใหญ่จะยิ่งมีโอกาสติดง่ายเป็นพิเศษหากอยู่ในสถานที่แออัด มีคนเยอะ หรืออากาศไม่ถ่ายเท ดังนั้นหากสงสัยว่าตนเองมีอาการไข้หวัดใหญ่ให้พยายามเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะ และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับบุคคลรอบข้าง
อาการไข้หวัดใหญ่มีอาการอะไรบ้าง?
อาการไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นที่มักพบจะมีดังนี้
- ตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง รู้สึกหนาวสั่น
- ปวดคอ เจ็บคอ
- ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกสีใส
- ปวดกระบอกตา ตาแดง
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว
- รู้สึกเบื่ออาหาร
สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของไข้หวัดใหญ่ที่มักพบในกลุ่มเด็กเล็ก และกรณีที่มีอาการไข้หวัดใหญ่รุนแรงก็อาจจะพบอาการแทรกซ้อนได้ เช่น หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอื่น ๆ เป็นต้น
อาการไข้หวัดใหญ่ที่ควรเข้าพบแพทย์
แม้ว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นให้หายเองได้ก็ตาม แต่ในกรณีที่มีอาการไข้หวัดใหญ่รุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อนอาจป็นอันตรายต่อชีวิตได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจไข้หวัดใหญ่ และเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน
- ไข้ขึ้นสูง 39-40 องศาติดกัน 1-2 วัน
- รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด หายใจถี่
- ปวดหัวรุนแรง หน้ามืด หมดสติ
- ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียนจนไม่สามารถทานอาหารได้ตามปกติ
- ปากซีดเขียว ชัก
- มีอาการขาดน้ำรุนแรง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคปอด, โรคหัวใจ
- เด็กเล็ก
วิธีรักษาอาการไข้หวัดใหญ่
วิธีการรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยตนเองที่ง่ายที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์ดี คือ การพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ตามอาการที่พบ เช่น
- หากมีไข้ขึ้นสูงให้ทานยาพาราเซตามอลควบคู่กับการเช็ดตัว โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
- หากมีน้ำมูกให้ทานยาลดน้ำมูก
- หากเจ็บคออาจใช้ยาอมหรือสเปรย์พ่นคอเพื่อบรรเทาอาการ
ในกรณีที่ลองบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นด้วยตนเองแล้ว แต่อาการกลับทรุดลงควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามอาการที่พบต่อไป โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อน
วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการไข้หวัดใหญ่
หากมีอาการไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์และดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการของโรค เช่น
- ทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบ
- เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
- ทานอาหารรสอ่อน สามารถย่อยง่าย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
- ใส่เสื้อผ้าหนาเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น
- งดออกกำลังกายชั่วคราว
- กรณีอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้แยกห้องนอน และแยกของใช้เพื่อลดการแพร่เชื้อ
- พยายามอยู่ในบ้าน แต่กรณีที่จำเป็นต้องออกข้างนอกหรือพบปะคนอื่นให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่เชื้อ
สรุปเกี่ยวกับอาการไข้หวัดใหญ่
อาการไข้หวัดใหญ่เป็นอาการที่มีลักษณะคล้ายโรคหวัดทั่วไปแต่อาการจะรุนแรงกว่า และยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากดูแลตนเองในระหว่างที่มีป่วยไม่เหมาะสม ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการให้ใส่หน้ากากอนามัยแล้วเข้าพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ให้หายและกลับมาแข็งแรงดังเดิม
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน BeDee เพื่อปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง พร้อมรับยาที่บ้าน ฟรีค่าจัดส่ง หรือปรึกษาและซื้อยากับเภสัชกรได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน! ป่วยเมื่อไหร่เปิดแอป BeDee เลย! คลิก https://bit.ly/4btcZSY