นายวิชัย ทองขาว ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ด้วยพื้นที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดที่ทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล หรือ ทคช. ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของดินจากการเป็นพื้นที่มีความลาดเท และลาดชันสูง ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียหน้าดิน และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการพัฒนา และส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างรอบด้าน และเหมาะสม สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย จึงได้จัดให้มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยสร้างผลดีต่อเกษตรกร ทั้งด้านการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เกิดความมมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน พร้อมยังส่งผลให้เกิดการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชนบ้านม่วงอีกด้วย
ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ตำบลบ้านม่วง โดยสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ และพัฒนาทักษะแก่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ทั้งการฟื้นฟูจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การบ่อดักตะกอนดิน การทำขั้นบันไดดินแบบไม่ต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการชะล้าวงพังทะลายของดิน เป็นต้น การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น การทำปุ๋ยหมัก พด. การทำและใช้น้ำหมักชีวภาพปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน นายวีระ กัณฑพันธ์ เกษตรกรตำบลบ้านม่วง ที่ได้ประโยชน์จากการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ กล่าวว่า จากการเข้ามาส่งเสริม แนะนำ ของสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย เกี่ยวกับการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ภายใต้แนวทางการทำขั้นบันไดดินแบบไม่ต่อเนื่อง ได้สร้างผลดีต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก ด้วยทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างเต็มพื้นที่ อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน
“ หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินโดยสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ได้เข้ามาช่วยแนะนำการปลูก การบำรุงดิน การอนุรักษ์ดิน ด้วยการจัดทำการทำขั้นบันไดดินแบบไม่ต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต อย่างปุ๋ยหมัก ทำให้การประกอบอาชีพการเกษตรของผมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนหน้านี้ จะมีรายได้จากการปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นหลัก เดือนหนึ่งจะมีรายได้อยู่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท แต่หลังจากที่สถานีพัฒนาที่ดินหนองคายเข้ามาช่วยพัฒนา ได้เปิดโอกาสให้ผมปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวขั้นบันไดที่จัดทำขึ้น ได้ปลูกไม้ผล พืชผัก ทั้ง เงาะ ทุเรียน ฟักทอง ถัวฝักยาวได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้ดีกว่าเดิมหลายเท่าตัว” นายวีระ กล่าว
ขณะที่ นายณรงค์ กุงโฮง อีกหนึ่งเกษตรกรตำบลบ้านม่วงที่ได้รับประโยชน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณ สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเฉพาะการเข้ามาจัดสร้างฝายชะลอน้ำ ส่งผลให้มีน้ำมาใช้ในสวนผลไม้ของตนเองได้อย่างเพียงพอ สามารถให้น้ำแก่ไม้ผลที่ปลูก ทั้ง เงาะ ทุเรียน และอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากเดิม