สมุทรปราการ เขต 1 “ขับเคลื่อนโยบาย Thailand Zero Dropout : พาน้องกลับมาเรียน”

สมุทรปราการ เขต 1 “ขับเคลื่อนโยบาย Thailand Zero Dropout : พาน้องกลับมาเรียน”

จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศ “เด็กนอกระบบต้องเป็นศูนย์” (Thailand Zero Dropout) โดยต้องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กไทยทุกคน กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำชับทุกหน่วยงานขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นำสู่การปฏิบัติอย่างทันที

สพป.สมุทรปราการ เขต 1 ไม่รอช้า นายภูมิ พระรักษา รอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ
ได้ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง พาผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดเฝ้าระวัง ป้องกัน ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยการช่วยเหลือ แก้ปัญหาตามสาเหตุและความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย
ในพื้นที่ทำงานร่วมกันในทุกมิติ

นอกจากการทำงานในพื้นที่แล้ว นายภูมิ พระรักษา รอง ผอ.สพป.สมุทรปราการ เขต 1 ยังได้รับมอบหมายให้ร่วมเป็นผู้ดำเนินการวิจัย เรื่อง การออกแบบแนวทางการดำเนินงานป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตามและช่วยเหลือเด็กตกหล่นและออกกลางคัน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยทั่วไป เพื่อสร้างแนวทางการดำเนินงานป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตามและช่วยเหลือเด็กตกหล่นและออกกลางคันของนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ได้แก่ 1) เพื่อวิเคราะห์จัดกลุ่มเด็กตามสภาพปัญหา ข้อจำกัดที่เป็นสาเหตุการตกหล่นและออกกลางคันของเด็กและความต้องการจำเป็นของเด็ก และ 2) เพื่อพัฒนาต้นแบบแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวังการตกหล่นและออกกลางคันที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการจำเป็นของเด็ก และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง โดยผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้

  1. สภาพปัญหาหรือข้อจำกัด และความต้องการจำเป็นที่เป็นสาเหตุการตกหล่นและออกกลางคัน 

สาเหตุการตกหล่นและออกกลางคันของเด็ก ประกอบด้วย 11 สาเหตุ ดังนี้ 1) ความจำเป็นของครอบครัว 2) ย้ายถิ่นที่อยู่ 3) รายได้ไม่เพียงพอ 4) ปัญหาสุขภาพหรือความพิการ 5) ปัญหาความประพฤติและการปรับตัว

ADVERTISMENT

6) ผลกระทบจาก COVID-19 7) เสี่ยงต่อการกระทำผิด 8) คมนาคมไม่สะดวก 9) สมรส 10) ผลการเรียน และ 11) ผู้ปกครองไม่ใส่ใจ ทั้งนี้ สาเหตุการตกหล่นและออกกลางคันของเด็กมากที่สุด คือ ความจำเป็นของครอบครัว รองลงมาคือ การย้ายถิ่นที่อยู่ รายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาความประพฤติและ การปรับตัว และปัญหาสุขภาพหรือความพิการ ตามลำดับ

  1. แนวทางการป้องกันไม่ให้เด็กตกหล่น แนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังเด็กออกกลางคัน และแนวทางการติดตาม ช่วยเหลือเด็กตกหล่นและออกกลางคัน

แนวทางการดำเนินงานป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตามและช่วยเหลือเด็กตกหล่นและออกกลางคัน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) แนวทางการป้องกันไม่ให้เด็กตกหล่น 2) แนวทางการป้องกัน เฝ้าระวังเด็กออกกลางคัน และดูแลช่วยเหลือเด็กออกกลางคันที่กลับเข้าระบบการศึกษา และ 3) แนวทางการติดตาม ช่วยเหลือเด็กตกหล่นและออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีการดำเนินงานในภาพรวมตามบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 5 ส่วน ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3) สถานศึกษา 4) ครอบครัว/ผู้ปกครอง และ 5) เครือข่ายความร่วมมือ

ADVERTISMENT

ด้วยผลงานดังกล่าว ทำให้ สพฐ. มีแนวทางฯ ในการดำเนินงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และโรงเรียนในสังกัดทุกแห่ง ใช้เป็นแนวทางในปีการศึกษา 2567 นี้ และในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout “พาน้องกลับมาเรียน” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม