
การนอนกรน แม้จะดูเป็นอาการที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพมากนัก อาจจะดูเป็นเพียงการก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงแก่คู่นอน แต่แท้จริงแล้ว คนที่นอนกรนอาจมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยได้ ทำให้นอนหลับได้ไม่ดีนัก ชึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการฟื้นฟูของร่างกาย ซึ่งอาการเมื่อตื่นนอนจะรู้สึกไม่สดชื่น ร่างกายอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งหากมีอาการรุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงไม่ควรมองข้ามการรักษาโรคนอนกรนเป็นอันขาด
นอนกรน คืออะไร สามารถรุนแรงได้ถึงขั้นไหน?
นอนกรน คือ อาการที่เกิดจากทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดการตีบแคบ เมื่อมีลมผ่านจึงเกิดเสียงกรนดังออกมาเวลาหายใจ โดยเฉพาะในท่านอนหงาย หากทางเดินหายใจมีการตีบแคบแค่บางส่วนจะเป็นลักษณะของอาการนอนกรนทั่วไป โดยจะมีเสียงกรนเป็นบางช่วง ซึ่งอาจรบกวนการพักผ่อนของคู่นอน แต่หากอุดกั้นทางเดินหายใจทั้งหมดโดยสมบูรณ์ นับเป็นการนอนกรนที่อันตราย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคและอาการร้ายแรงอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ การนอนกรนเป็นอาการที่สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่ควรให้ความสนใจกับการนอนกรนในช่วงวัยเด็กเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา หากเด็กนอนกรนเกิน 3 คืนต่อสัปดาห์อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงอย่าง เช่น ภาวะพร่องออกซิเจนและหยุดหายใจขณะหลับได้
นอนกรนเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ทำให้นอนกรนมักเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การดูแลตัวเอง และพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยสาเหตุหลัก ๆของการนอนกรน มีดังนี้
- การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดการอักเสบที่ทางเดินหายใจส่วนบน และมีเมือกในคอเหนียวจนส่งผลต่อการหายใจ
- การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนเป็นประจำ
- การทานยาที่ทำให้ง่วงหรือส่งผลต่อการหย่อนของกล้ามเนื้อขณะหลับ เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ เป็นต้น
- ความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- สาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต่อมทอนซิลโต เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนกรน และความเสี่ยงของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ผู้ที่มีอาการนอนกรนขั้นรุนแรงอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ (Obstructive Sleep Apnea) โดยเกิดจากทางเดินหายใจส่วนต้นถูกอุดกั้น จากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ โคนลิ้นมีการหย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ระหว่างนอนหลับมีการหายใจผิดปกติ สังเกตได้จากเสียงกรนที่เงียบไปชั่วขณะหนึ่ง และมีการหายใจเฮือกตามมา ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากเนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึก การพักผ่อนไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
ผู้ที่เสี่ยงมีภาวะนอนกรน ใครเข้าข่ายบ้าง?
ผู้ที่มีความเสี่ยงนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ซึ่งส่งผลเสียทั้งบุคลิกภาพและสุขภาพ ได้แก่
- นอนกรนจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงราว 6-10 เท่า
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ การอักเสบเรื้อรังในโพรงจมูก
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบ ทำให้เวลานอนจะกรนเสียงดังมาก
- ผู้ที่มีปัญหารูปหน้า จมูก หรือคางผิดปกติ เช่น มีการคดหรือเบี้ยว
- ผู้ที่มีอาการต่อมทอนซิลโตหรือมีช่องจมูกแคบจนขวางทางเดินหายใจ
วิธีรักษานอนกรน เพิ่มความสุขในการพักผ่อน
สำหรับผู้ที่นอนกรนมักมีอาการเจ็บคอหลังตื่นนอน, ปวดศีรษะในยามเช้า, รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม, มีอาการง่วงระหว่างวัน รวมถึงอารมณ์เสียง่าย สำหรับใครที่อยากรักษาอาการนอนกรนให้ดีขึ้น สามารถทำได้ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ไปจนถึงอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ปรับเปลี่ยนท่านอน : ควรเปลี่ยนจากท่านอนหงาย มาเป็นท่านอนตะแคง จะช่วยให้อาการกรนดีขึ้น เนื่องจากทำให้อวัยวะหรือกล้ามเนื้อบางส่วนไม่หย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจจนเกิดเสียง เคล็ดลับที่จะช่วยให้นอนตะแคงได้นานขึ้นคือ การนำหมอนข้างมาช่วยในการจัดท่าทางระหว่างนอน เพื่อลดการนอนกรน
- ปรับพฤติกรรม : วิธีแก้อาการนอนกรน ด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ คือ การปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการนอนกรน เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม งดสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึงการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อลดการอุดตันของทางเดินหายใจ เป็นต้น
- ใช้อุปกรณ์ลดนอนกรน : สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัดรักษาอาการนอนกรน สามารถใช้เครื่องช่วยรักษาอาการนอนกรน iNAP และ CPAP ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนได้ดีขึ้น ทำให้ได้รับปริมาณออกซิเจนอย่างเพียงพอ
- ใช้เลเซอร์รักษาอาการนอนกรน : การผ่าตัดรักษาการนอนกรนด้วยเลเซอร์ (Laser-assisted uvulopalatoplasty, LAUP) เป็นการแก้ปัญหานอนกรน ด้วยการใช้เลเซอร์ตกแต่งเพดานอ่อน และทำให้ลิ้นไก่มีขนาดเล็กลง เพื่อขยายทางเดินหายใจ หลังทำผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักฟื้น
- ผ่าตัดรักษาอาการนอนกรน : วิธีนี้จะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อหย่อนตัวบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออก ด้วยเทคนิค Modified uvulopalatopharyngoplasty หรือ UPPP เพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
สรุป รักษา “นอนกรน” ช่วยลดความเสี่ยงภาวะอันตราย
การนอนกรน คือ ภาวะที่หลับแล้วมีเสียงดังออกมาจากลำคอ สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบตันหรือถูกอุดกั้น หากมีอาการในระดับรุนแรงอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกรน ควรปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยสามารถเลือกปรึกษาผ่านออนไลน์บนแอป SkinX ที่มีแพทย์กว่า 210 ท่านจากสถานพยาบาลและคลินิกน่าเชื่อถือ ไม่ต้องรอคิวให้เสียเวลา! เพื่อให้การนอนหลับของคุณกลับมามีความสุขอีกครั้ง ดาวน์โหลดแอปได้เลยบน IOS และ Android