ธ.ก.ส. – มช. ลงนาม ‘MOU ยกระดับสมุนไพร’ หนุนนำภาคการเกษตร

ธ.ก.ส. - มช. ลงนาม ‘MOU ยกระดับสมุนไพร’ หนุนนำภาคการเกษตร

ตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษ ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน’ โดยสร้างรากฐานภาคการเกษตรที่มั่นคง พร้อมสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงเงินทุนภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่ ตลอดจนเชื่อมโยงธุรกิจกับภาคการเกษตร พัฒนาองค์ความรู้ด้านการตลาดเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของ เกษตรกรในภาคชนบทอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ผสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย นำโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้รู้จักคุณค่าพืชสมุนไพร พร้อมยกระดับพืชสมุนไพรพื้นบ้านในท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และเกษตรอัจฉริยะสู่เกษตรมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังร่วมกับ กระทรวงพลังงาน เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต-แปรรูปสมุนไพร

ล่าสุด ผนึกกำลัง อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ ‘โครงการยกระดับสมุนไพรโดยใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาด’ เพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การปฏิบัติการในชุมชน พร้อมจัดทำ‘โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการยกระดับเครือข่ายผู้ปลูกพืชสมุนไพร’ต่อยอดองค์ความรู้สู่การยกระดับ มาตรฐานการผลิตและสารสำคัญสมุนไพรหนุนเสริมและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนมากขึ้น

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกษตรกรไทยล้วนทำแต่การเกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงเร่งเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยเคมีและสารอันตรายต่างๆ บนพื้นที่จำกัด ส่งผลให้คุณภาพดินย่ำแย่ ผลผลิตไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้ ธ.ก.ส. จึงเดินหน้าแนวคิด ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ โดยผสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายผนวกกับปณิธาน‘เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน’จนนำไปสู่การอำนวยความสะดวกด้านทุนควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรภาคชนบท

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งนำความรู้จากงานวิจัยหรือนวัตกรรม เพื่อหนุนเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ จึงร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. นำร่องเกษตรกรที่มีศักยภาพเข้าร่วม ‘โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ยกระดับเครือข่ายผู้ปลูกพืชสมุนไพร’เพื่อนำองค์ความรู้จากงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จพร้อมตอกย้ำการเป็นหัวขบวน ธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นใจรวมถึงช่วยดึงเกษตรกรรายย่อยให้เป็นผู้ประกอบการในชุมชนต่อยอดการทำเกษตรที่ตรงตามความต้องการของตลาด และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น 

ADVERTISMENT

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้จากงานวิจัย-นวัตกรรม เพื่อนำไปปรับใช้ในชุมชน ทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด การผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ นำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เกษตรมูลค่าสูง รวมถึงสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ได้รับมาตรฐานการผลิตสมุนไพรที่มีสารสำคัญ ตลอดจนได้รับฉลากคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Seal) พร้อมเชื่อมโยงตลาดสมุนไพรอย่างเป็นระบบ

“ความร่วมมือวันนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้ร่วมมือกับ มช. พร้อมเชื่อว่าจะทำให้ภาคเกษตรมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่ง ธ.ก.ส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งต้องการสร้างความท้าทายให้พี่น้อง ธ.ก.ส. หยิบงานวิจัยที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ทำยาก ลองนำมาดูว่าจะเติมทุนหรืออื่นๆ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มช. เผยว่า ความยั่งยืนด้านการเกษตรนับเป็นโจทย์หลักของทุกภาคส่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีธงนำสำคัญ คือ ‘เศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ’ รวมถึงเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก พร้อมสนับสนุนอาจารย์-นักวิจัย เพื่อสร้างผลงานทางด้านวิชาการที่ตอบโจทย์หลัก และพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ มีงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรและการแปรรูป รวมถึงการยกระดับการใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเกษตรกร ดังนั้น การผนึกกำลังร่วมกับ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำทรัพยากร ของมหาวิทยาลัยฯ ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี-งานวิจัย นวัตกรรมความยั่งยืน ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุด พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“อีกหนึ่งเป้าหมายที่ มช. ตั้งเป้าไว้คือ ความยั่งยืน รวมถึงการทำเกษตรที่ยั่งยืน ดังนั้น การใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาช่วย จึงเป็นหนทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จ หากขาดส่วนนั้นไป ความยั่งยืนจะเป็นเรื่องของรายจ่ายที่ไม่มีโอกาสกลับมาจึงขอขอบคุณที่เปิดโอกาสให้มช.ได้ใช้องค์ความรู้และทรัพยากรเข้ามาเสริมวิสัยทัศน์สร้างแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่เป็นลูกค้า หรือกลุ่มพันธมิตรของ ธ.ก.ส.”

ขณะที่ นายทนงศักดิ์ มังกรศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกและแปรรูปสมุนไพรทับยายเชียง เล่าว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยทำการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอันตรายทว่าแนวทางนั้นไม่สามารถใช้ร่วมกับการปลูก สมุนไพรได้เนื่องจากต้องนำไปใช้สำหรับแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกด้วยเหตุนี้จึงเข้าร่วมโครงการฯของธ.ก.ส. เพราะตอบโจทย์เรื่องลดโลกร้อนและพลังงานสะอาดอีกทั้งทำให้หัวขบวนเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจปลูกสมุนไพรของแต่ละ จังหวัดสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเพื่อยกระดับสมุนไพรไทยได้

อย่างไรก็ตาม จากการที่ ธ.ก.ส. ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นับเป็นตัวช่วยที่ให้เครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพรทั่วประเทศสามารถดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ นอกจากนี้การผนึกกำลังกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. นับเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมมอบองค์ความรู้ รวมถึงวิถีการทำสมุนไพรรูปแบบใหม่ โดยปรับมาเป็น ‘ทำเกษตรที่ลดต้นทุน-ปลอดภัย’ อีกทั้งในอนาคตมุ่งต่อยอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริงให้กับผู้ปลูกหรือผู้ผลิตพืชสมุนไพรในระดับชุมชนและระดับประเทศ 

“ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากทาง ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นธนาคารและเป็นผู้ดูแลเกษตรกรทั่วประเทศไทยรวมถึงเป็นผู้ที่ชี้ทางชี้นำให้กับกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้สามารถ เดินไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ อย่างแรกคือมีกำลังใจเพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญมาดูแล จากนั้นหากได้รับการสนับสนุนก็สามารถนำไปต่อยอด พร้อมขับเคลื่อนต่อไปได้” นายทนงศักดิ์ ทิ้งท้าย