EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs ไทยจัดทำบัญชีเดียว

EXIM BANK แนะผู้ประกอบการ SMEs ไทยจัดทำบัญชีเดียว

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของธุรกิจ SMEs ในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าสัดส่วนของ SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 35.2% ในปัจจุบัน เป็น 40% ภายในปี 2570 เนื่องจากมีการจ้างงานถึง 70% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ แต่การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs มีอุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า SMEs ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากเนื่องจากมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน มีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่มีหลักประกัน ทำให้อาจไม่ได้รับโอกาสในการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดยทั่วไป

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้ ขาดทักษะในการเตรียมความพร้อมขอสินเชื่ออย่างถูกวิธี ไม่เข้าใจหลักการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้เกิดนายหน้า (Agent) เข้ามาเป็นคนกลางจัดการเอกสาร ประสานงานติดต่อเพื่อให้ได้รับการพิจารณาสินเชื่อ และบ่อยครั้งที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง 

EXIM BANK ทำหน้าที่เป็นมากกว่าธนาคาร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยสร้างระบบนิเวศให้พร้อมในการสนับสนุน SMEs ทั้งเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุนให้ รวมทั้งแนะนำวิธีการบริหารความเสี่ยงผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs การขอสินเชื่อไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้าที่จะเรียกเก็บเงินค่าบริการซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ  หากมีความพร้อมหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอน ถ้าเข้าเกณฑ์ก็สามารถผ่านการพิจารณาได้” ดร.รักษ์กล่าว

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ SMEs ต้องรู้คือ สถาบันการเงินใช้เกณฑ์ 5C ในการพิจารณาสินเชื่อ ได้แก่ Character ความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ ธนาคารจะดูประวัติส่วนตัว ประวัติทางการเงินว่ามีความน่าเชื่อถืออย่างไร มีการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีประวัติการชำระคืนเงินกู้อย่างไร 

Capital สินทรัพย์ หรือส่วนทุนในการทำธุรกิจ สถาบันการเงินจะตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ขอสินเชื่อว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง เช่น เงินเก็บ บ้าน รถ ที่ดิน ฯ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขอสินเชื่อจะมีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่มีหนี้สินเกินตัว 

Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นการดูรายละเอียดของธุรกิจว่าเป็นธุรกิจอะไร มีภาวะการแข่งขันและด้านการตลาดเป็นอย่างไร สร้างรายได้และกำไรได้อย่างมั่นคงยั่งยืนหรือไม่ การเติบโตของธุรกิจมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ 

ADVERTISMENT

Collateral หลักประกันและผู้ค้ำประกัน การขอสินเชื่อที่มีจำนวนเงินสูง สถาบันการเงินอาจขอหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน หรือบุคคลค้ำประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
จะมีทรัพย์สินหรือบุคคลที่จะรับผิดชอบหนี้ได้ 

Conditions เงื่อนไขและปัจจัยภายนอก จะเป็นการพิจารณาบริบทและปัจจัยภายนอกที่จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ เช่น การเมือง สังคม ภัยธรรมชาติ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีเงื่อนไขปลีกย่อยในการปล่อยสินเชื่อแตกต่างกันให้เหมาะสมกับแต่ละกิจการ

ADVERTISMENT

ดร.รักษ์ กล่าวว่า สัดส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการที่สถาบันการเงินมักนำมาพิจารณาในการขอสินเชื่อคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่ควรจะเกิน 3 เท่า อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ควรจะมากกว่า 1 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR)
อย่างน้อยจะต้องอยู่ในระดับ 1.1 – 1.2 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ควรอยู่ที่ระดับ 1.1 – 1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt To Income Ratio : DTI) ไม่เกิน
30-40% ยิ่งต่ำยิ่งดี 

“สัดส่วนทางการเงินเหล่านี้จะอยู่ในงบดุล และงบกำไรขาดทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งขอแนะนำว่าควรจะทำบัญชีเดียวที่เป็นบัญชีแสดงฐานะการเงินที่แท้จริง SMEs มักเข้าใจว่าการทำบัญชีหลายเล่มจะช่วยให้เสียภาษีน้อยลง แต่จะสร้างปัญหาในอนาคต หากธุรกิจเติบโตและต้องการขยายก็จะขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ จากหน่วยงานรัฐที่จะมีในอนาคต” ดร.รักษ์กล่าว 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรปรับธุรกิจให้แข่งขันได้ตามเทรนด์โลกปัจจุบัน โดยดำเนินการตามหลัก 2P คือ ปรับปรุงกระบวนการผลิต (Process) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Products) เพื่อให้เกิด 4P ที่แข่งขันได้ ได้แก่ ราคา (Price) ตลาด (Place) กำไร (Profit) และโปรโมชัน (Promotion) ทางการเงินจากธนาคาร หลักการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก 

EXIM BANK มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่พร้อม Go Green สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ EXIM BANK Contact Center โทร. 0 2169 9999 หรือ Facebook FanPage EXIM Bank of Thailand และ Line Official @EXIMThailand