นิสิต คือ ศูนย์กลาง อธิการฯ มุ่งนำ ‘จุฬาฯ’ สู่ AI University

นิสิต คือ ศูนย์กลาง อธิการฯ มุ่งนำ ‘จุฬาฯ’ สู่ AI University

‘สังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ’ อธิการบดีจุฬาฯ ลั่นวิสัยทัศน์ใหม่ที่พร้อมนำจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศ ตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็น Global Thai University เน้นเติบโตรอบทิศโดยยึดนิสิตเป็นศูนย์กลาง และปรับบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่จะไปถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตผู้คน

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่เรือนจุฬานฤมิต ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ‘จุฬาฯ ชวนสื่อฯ จิบน้ำชายามบ่าย เพื่อกระชับสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน’ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาร่วมงานครั้งนี้

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร เผยวิสัยทัศน์สำคัญหลังมีโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งอธิการบดีอย่างเป็นทางการถึงความตั้งมั่นต่อแนวทางการบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้นโยบาย Chula Power of Togetherness ที่มุ่งเน้นการเติบโตของจุฬาฯ ในทุกมิติ โดยเน้นย้ำว่า จุฬาฯ จะไม่ใช่แค่การเติบโตในระดับ International หากต้องก้าวสู่การเป็น Global-Thai University การเติบโตที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง

จุดเริ่มต้นของการเติบโต คือ ต้องมาจากภายใน เพื่อการเป็น The Most Admired University ซึ่งในวันนี้โลกต่างขับเคลื่อนด้วย AI แต่ในภาคการศึกษา หลายเสียงหลายคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมถึงความจำเป็นที่ว่า การเรียนมหาวิทยาลัยยังสำคัญหรือไม่ จุฬาฯ เรามองว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษายังสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ให้ความรู้ ให้บทเรียน ให้ชีวิตที่ AI สอนไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน AI ก็มีความจำเป็น นั่นคือโจทย์ท้าทายที่จุฬาฯ กำลังค้นหาและตอบคำถามสังคม

“เราหลีกเลี่ยง AI ไม่ได้ แต่ต้องวางเขาให้เป็นบทพระรอง ต้องรู้จักการปรับเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกันในวันนี้ จุฬาฯ มีเป้าหมายคือ การก้าวสู่การเป็น AI University และการเป็น AI Hub ของภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล และเตรียมความพร้อมให้นิสิตมีทักษะและความรู้ด้าน AI” ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

ADVERTISMENT

อธิการบดีฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่า การนำจุฬาฯ มุ่งสู่ AI University ไม่ใช่การมองเฉพาะพลังการขับเคลื่อนด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำงาน โดยมี AI เป็นตัวเสริมไม่ใช่ตัวหลัก ต้องเข้าใจว่า AI มีบทบาทในการทดแทนบางอาชีพ แต่ยังคงต้องมี ‘คน’ เป็นผู้ทำงานหลัก ร่วมกับ AI เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนา โดยได้ผลักดันการตั้ง Chulalongkorn AI Institute หรือสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้น

จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ มาจากการที่ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและมีครบทุกมิติของด้านการศึกษา โดยเฉพาะคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะเศรษฐศาสตร์ 

ADVERTISMENT

หลักการทำงานของ Chulalongkorn AI Institute คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตเป็นครีเอเตอร์ พร้อมที่จะตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สู่การเป็นองค์กรของคนเก่งและคนดี การเติบโตแบบบูรณาการ สู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับหน่วยงานภายนอก และนิสิตเก่าทั่วประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเติบโตทางปัญญา มุ่งเน้นที่การบ่มเพาะนิสิตและบัณฑิตจุฬาฯ สู่การเป็นนิสิตและเป็นบัณฑิตที่มีความฉลาด มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ

ส่วนการขับเคลื่อนจุฬาฯ นั้น อธิการบดีฯ กล่าวว่า ตนจะใช้เทคโนโลยีนำทาง ให้จุฬาฯ เติบโตในทุกมิติ โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง เป็นองค์กรของคนเก่งและคนดี ให้จุฬาฯ เป็นมากกว่าคำว่า international นั่นคือเป็น global ให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ทุกคนทั่วโลกอยากมาเรียน และผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเข้าใจโลก โดยมียุทธศาสตร์ที่ปูทางให้นิสิตและบุคลากร ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก ทั้ง มหาวิทยาลัยระดับโลก องค์กรระดับโลก และบริษัทระดับโลก

“จุฬาฯ จะจัดทำยุทธศาสตร์โดยร่วมมือกับองค์กรระดับโลก และเร็วๆ นี้จุฬาฯ จะทำวิจัย เพื่อรายงานว่าทิศทางโลกจะไปในรูปแบบไหน เพื่อเสริมทักษะการวิเคราะห์ของประชาชนให้มากขึ้น ในรูปแบบหากสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบให้ เพราะผมต้องการขับเคลื่อนจุฬาฯ ให้เป็นศูนย์กลางพื้นที่ที่ใช้บ่มเพาะเยาวชน ควบคู่ไปกับความสุขในการเรียน”

ศ.ดร.วิเลิศ ยังได้เปิดเผยถึงบทบาทในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมองว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างคุณภาพของการศึกษาในระดับประเทศในองค์รวม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเพียงเกณฑ์จากองค์กรจัดอันดับต่างๆ สำหรับยุทธศาสตร์ของ ทปอ. มุ่งผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสร้างการศึกษาในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และดึงดูดนิสิตต่างชาติให้เข้ามาศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม

“ผมตั้งเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยสู่ระดับสากล โดยมียุทธ์ศาสตร์ที่จะผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งจะทำให้เราสามารถดึงชาวต่างชาติให้เข้ามาเรียนในประเทศไทยได้ และวันนี้บทบาทของจุฬาฯ คือการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนและทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้อย่างเท่าเทียม และทุกมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันได้” อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย