
กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน 500 ล้าน
นายวัฒนา ช่างเหลา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าว่า หลังจากที่ตนได้รับตำแหน่ง และแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้กำหนดนโยบายเรื่องเศรษฐกิจดี และสังคมดี ด้วยการนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยี ระบบนวัตกรรมสารสนเทศ โดยการนำปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) มาใช้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการภาครัฐอย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น โครงการรถมินิบัสไฟฟ้า EV ซึ่งจะมีระบบแอปพลิเคชัน ที่สามารถแจ้งจำนวนรถและแสดงจุดรับผู้โดยสาร โดยเชื่อมโยงระหว่างอำเภอและแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัด ซึ่งจะทำให้เศรษกิจในพื้นที่โดยรอบ บขส. เก่า ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ส่วนการให้บริการในด้านสาธารณสุข ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กำกับดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชุน (รพ.สต.) ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเทเลเมดีซีน (Telemedicine) หรือ การแพทย์ทางไกล และระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) มาใช้ในการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลหลัก ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการพลิกโฉมการให้บริการสำหรับประชาชน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังสนับสนุนให้นำดิจิทัลมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคธุรกิจ
การที่หอการค้าได้จัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อธุรกิจ ครั้งที่ 2 “Smart Business Expo 2025” ในวันที่ 14 -16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติไคซ์ (KICE) ขอนแก่นนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จึงสนับสนุนให้กิจการห้างร้าน บริษัท เช่น บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ ผู้ประกอบกิจการ Wellness คลินิกสุขภาพและความงาม ค้าปลีก-ค้าส่ง ตลาดออนไลน์ สมาร์ทฟาร์ม กิจการการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธนาคาร ประกันภัย และสถาบันการศึกษา ที่ประกอบการในจังหวัดขอนแก่น เข้าแสดงสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและจับคู่ธุรกิจ อันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนภายในจังหวัด มูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ดังผลสัมฤทธิ์จากการจัดงาน ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ ครั้งที่ 2 “Smart Business Expo 2025” ครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 โดยมีภาคีเข้าร่วมการจัดงาน ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดขอนแก่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กระทรวงพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยกำหนดจัดงานในวันที่ 14 -16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติไคซ์ (KICE) ขอนแก่น พื้นที่จัดงานรวมทั้งสิ้น 9,150 ตารางเมตร บูธแสดงสินค้า จำนวน 214 บูธ โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้า ประกอบด้วย สมาชิกหอการค้าจังหวัดขอนแก่น จำนวน 48 ราย หน่วยงานภาครัฐ 14 หน่วยงาน ภาคเอกชน 42 บริษัท ประเภทธนาคาร/ประกันภัย 8 บริษัท และกลุ่มผู้ประกอบการ SME 29 ราย
รวมทั้งมีการจัดสัมมนา ประกอบด้วย สัมมนาผู้นำท้องถิ่นอัจฉริยะ AI, ประชุมใหญ่หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และพิธีมอบรางวัล เชิดชูองค์กรและธุรกิจที่มีบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจขอนแก่น และขอบคุณผู้สนับสนุน KKCC AWARD 2025, อบรมสัมมนา E-Saann Health & Wellness Business Networking 2025 สัมมนาร้านอาหารอุ่นใจมีประกันภัยคุ้มครอง และ อบรมธุรกิจจดนิติบุคคลใหม่ ติดปีกความรู้ ครั้งที่ 10
ในส่วนการประชาสัมพันธ์การจัดงาน มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางโซเซียลมีเดีย (Social Media) เป็นหลัก โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ 20 ภาคอีสาน 5 ภาคกลาง 10 ภาคเหนือ หรือ ศูนย์กลางจังหวัดขอนแก่น 350 กิโลเมตร ผู้เข้าถึงโฆษณาเป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ตั้งแต่อายุ 22 จนถึงอายุ 55 ปี ส่วนอายุระหว่าง 55 จนไปถึง 75 ปี เน้นการรับข้อมูลข่าวสารในด้านออนไลน์เป็นหลัก โดยคาดว่าจะมีกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ที่จะนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยี AI ไปเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขัน และการประกอบธุรกิจ โดยในปีนี้ คาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานและจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 6,000 คน และมียอดเศษฐกิจหมุนเวียนจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น (พ.ศ. ๒๕๖๖๖-๒๕๗๐) ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ แนวคิดการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นเมืองที่ทันสมัย และเป็นต้นแบบทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕๑ โดยจังหวัดขอนแก่น เป็น ๑ ในจังหวัดนำร่องโครงการ ICT Cityตามแนวทางการพัฒนา ตามผังเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๖๐๐ ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕๑
ด้วยศักยภาพของจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา มีความพร้อมที่จะผลิตบุคลากรด้าน IT สามารถที่จะส่งเสริมเป็นเป็นอุตสาหกรรม Software Park รวมทั้งเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการคมนาคมและขนส่ง เป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ การท่องเที่ยว การศึกษา และสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่นจึงมีความเหมาะสมหลายประการในการพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ประกอบกับตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บท แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงกำหนดให้จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาค โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในยุค 4.0 และขยายขีดความสามารถการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นเป็นเขตเมือง มีการายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่องและมีอัตราจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นขึ้นทุกปี (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 0.4 ) ความหนาแน่นของประชากรจังหวัด 165 คนต่อตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จำนวน 434 คนต่อตารางกิโลเมตร มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีความหนาแน่นในพื้นที่บริเวณศูนย์กลางเมืองในเขตเทศบาลนครฝังตะวันออกของถนนมิตรภาพ และการขยายตัวเพิ่มขึ้นทางด้านทิศเหนือในเขตเทศบาลเมืองศิลา โดยในบริเวณพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่เมืองชอนแก่นได้ขยายขอบเขต ข้ามแนวถนนมิตรภาพทางด้านทิศตะวันตกของเมืองออกมาในพื้นที่รอบนอกที่แต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ว่างเปล่าของเขตเทศบาลบ้านเป็ด เทศบาลเมืองเก่า และพื้นที่ด้านตะวันออกตามแนวถนนศรีจันทร์ และทางหลวงหมายเลข 12
ซึ่งส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) มีอัตราการเพิ่มของพื้นที่ปลูกสร้างโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ประกอบกับปัญหาด้านการจราจรของเมืองขอนแก่นที่สำคัญได้แก่ มีปริมาณจราจรหนาแน่น การขาดระเบียบวินัยจราจร ความปลอดภัยของคนผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งปัญหาโครงสร้างเมืองดังกล่าวเป็นผลมาจากการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นในฐานะที่เป็นเมืองรองเป้าหมายที่รัฐต้องการส่งเสริมให้มีความเจริญเติบโต ทำให้เกิดการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง (Urban sprawl) ซึ่งกำลังกำลังขยายรูปแบบการเติบโตแบบไร้ทิศทางดังกล่าวเขตเมืองอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น และจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว
จังหวัดจึงมีแนวทางการพัฒนาเมืองและแก้ไขปัญหาเมืองให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และพลเมือง จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน สำหรับคนทุกกลุ่มในสังคม พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่การเป็น Smart City
โดยใช้ปัจจัยเพื่อการพัฒนา 3 ประการคือ การบูรณาการเทคโนโลยี (Technology Integration) การพัฒนาการบริหารจัดการ (Governance) และ การสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชน (Learning) เพื่อให้เกิดการกระจายการพัฒนาสู่ทุกพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น โดยการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จังหวัดขอนแก่น ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัด ทำให้การพัฒนาจังหวัดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความโดดเด่น จังหวัดขอนแก่นจึงสนับสนุนให้หอการค้าจัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อธุรกิจ ครั้งที่ 2 “Smart Business Expo 2025” ครั้งนี้ ในวันที่ 14 -16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติไคซ์ (KICE) ขอนแก่น