ทางเลือกใหม่ในการออมอย่างมั่นคงต่อยอดสู่ความมั่งคั่งด้วยพันธบัตรออมทรัพย์กับกรุงไทย

ทางเลือกใหม่ในการออมอย่างมั่นคง

ปัจจุบันการออมเงินอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะทางเลือกใหม่คือการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและสร้างรากฐานทางการเงินให้มั่นคงกว่าเดิม และหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันก็คือการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์จากรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร

พันธบัตรรัฐบาล คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทตราสารที่ออกโดยกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน ดังนั้นประชาชนทั่วไปจึงสามารถจองซื้อและถือครองพันธบัตรรัฐบาลได้ โดยทางรัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นให้แก่ผู้ถือครองเมื่อครบกำหนดหรืออาจจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีอายุ 1 ปี ไปจนถึง 5 ปี นักลงทุนจึงสามารถวางแผนได้ว่าต้องการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว

พันธบัตรรัฐบาลต่างจากกองทุนรวมอย่างไร?

พันธบัตรรัฐบาลเป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุหรือจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ มีความคล้ายคลึงกับหุ้นกู้ แต่หุ้นกู้คือตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน

ส่วนกองทุนรวมเป็นการมอบเงินให้กับนักลงทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์มืออาชีพที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพื่อให้บริหารเงินแทนเรา สามารถเลือกลงทุนในกองทุนสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ บางกองทุนอาจมีทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน รวมถึงหุ้นอยู่ในกองทุนเดียว เปรียบได้กับการลงทุนในแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อให้นักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์นำเงินของเราไปบริหารจัดการแทน ส่วนผลตอบแทนมีทั้งรูปแบบเงินปันผลและรูปแบบกำไรจากส่วนต่างเมื่อขายคืน

ความแตกต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลกับกองทุน คือการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมีกำหนดระยะเวลาการรับผลตอบแทนที่แน่นอน โดยเรามีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ส่วนการซื้อกองทุนเป็นการลงทุนสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง จึงลงเงินในกองทุนที่สนใจเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ของกองทุนนั้นบริหารเงินแทนเราและรอรับผลตอบแทนในรูปแบบปันผลหรือส่วนต่างเมื่อทำการขายคืน 

อยากซื้อพันธบัตรรัฐบาลต้องทำอย่างไร

การซื้อพันธบัตรรัฐบาลสามารถซื้อขายได้ใน 2 ตลาด ได้แก่

ADVERTISMENT
  1. ตลาดแรก (Primary Market) คือ การซื้อขายตั้งแต่ต้นทางระหว่างผู้ออกพันธบัตรกับนักลงทุน ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มนักลงทุนรายย่อย (บุคคลทั่วไป) ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้จากธนาคาร ด้วยราคาเริ่มต้น 1 – 1,000 บาทต่อหน่วย และนักลงทุนสถาบันซึ่งจะมีการตั้งราคาเพื่อประมูลซื้อพันธบัตรในรอบนั้น 
  2. ตลาดรอง (Secondary Market) คือ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลระหว่างนักลงทุน ซึ่งมักจะเป็นการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา หากใครไม่ต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลต่อก็แจ้งความประสงค์ซื้อขายก่อนครบกำหนดได้ โดยนักลงทุนจะตกลงราคาซื้อขายกันเองในตลาดหรือผ่านโบรกเกอร์ 

ส่วนวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากรัฐบาลสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ผ่านธนาคารกรุงไทยและแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ในช่วงที่มีการซื้อขาย ส่วนการซื้อขายในตลาดรองก็สามารถทำได้ผ่านบริการ Money Connect ของแอป Krungthai NEXT ได้เช่นกัน

ขั้นตอนการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT

ADVERTISMENT
  1. เลือกเมนู บริการ
  2. เลือกเมนู พันธบัตรออมทรัพย์
  3. เลือกเมนู รุ่นพันธบัตรที่ต้องการจอง
  4. ระบุ จำนวนที่จองซื้อ
  5. ตรวจสอบความถูกต้องของการสั่งจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์และยืนยันการชำระเงิน

อย่างไรก็ตามการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์สามารถทำได้ในช่วงที่มีประกาศขายพันธบัตรจากรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น หากไม่อยู่ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายจะไม่มีคำสั่งซื้อที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ในตลาดรองสามารถเลือกเมนู บริการ และเลือกเมนู Money Connect กรอกข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงแล้วเข้าสู่หน้าการซื้อขาย จากนั้นเลือกเมนูตลาดรองแล้วทำการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ที่ต้องการได้เลย

พันธบัตรรัฐบาลเปิดขายช่วงไหนบ้าง

พันธบัตรรัฐบาลไทยเปิดจำหน่ายปีละ 2 ครั้ง โดยทั่วไปจะประกาศในช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังของปีงบประมาณ ตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงการคลังได้ประกาศจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี 3.0% และ 3.4% ประกาศจำหน่าย 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2567 และช่วงที่ 2 สำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ในวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567
  • ครั้งที่ 2 อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี 3.0% และ 3.4% ประกาศจำหน่าย 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2567 และช่วงที่ 2 สำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ในวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2567

สำหรับปีงบประมาณ 2568 กระทรวงการคลังได้ประกาศจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ในครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มีกำหนดการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลครั้งแรกของปีช่วงประมาณวันที่ 29 มกราคม 2568

คุณสมบัติผู้จองซื้อพันธบัตรรัฐบาล

  • ประชาชนทั่วไป

บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ หากเป็นผู้เยาว์ที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ปกครองต้องให้ความยินยอม 

  • นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร

นิติบุคคลกลุ่มนี้หมายถึงนิติบุคคลที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไร อย่างสมาคม มูลนิธิ สหกรณ์ วัด สภากาชาดไทย โรงเรียนรัฐบาล นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยและไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร

  • ชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

ชาวต่างชาติสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยต้องใช้เอกสารสำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและสำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝาก ทำการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลที่สาขาของธนาคารเท่านั้น

การลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำเงินเย็นมาลงทุน สามารถเลือกซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ตั้งแต่ 1 – 10 ปี อย่างไรก็ตามหากใครไม่มีเวลาซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลด้วยตัวเอง แต่ยังต้องการนำเงินออมมาลงทุนให้งอกเงย ยังมีการลงทุนประเภทอื่นที่น่าสนใจอย่างการซื้อกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม เป็นต้น การลงทุนในกองทุนรวมจึงเหมาะสำหรับมือใหม่หรือผู้ไม่มีเวลาในการลงทุนด้วยตัวเอง ต้องการลงทุนโดยให้มืออาชีพช่วยบริหาร และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

หากสนใจซื้อพันธบัตรออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทยสามารถดูรายละเอียดได้ ที่นี่ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปดูทางเลือกการลงทุนในกองทุนรวมอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากกรุงไทยได้ที่ https://krungthai.com/th/content/personal/investment/mutual-funds