เครือซีพีร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน ‘ป่าปลอดเผา’ ชุมชนเวียงแหง เฟส 2 ลดหมอกควันไฟป่า

เครือซีพีร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน ‘ป่าปลอดเผา’ ชุมชนเวียงแหง เฟส 2 ลดหมอกควันไฟป่า

เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  เข้าร่วมเวทีสมัชชาป่าชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เวียงแหง เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยวเมืองแห่งการอนุรักษ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน นำโดย ว่าที่พันตรี นรินทร์ ปิ่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) นายเดโช ไชยทัพ นายกสมาคมพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ผู้แทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และนางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบทุนการจัดการลดเชื้อเพลิงในป่า ให้แก่ผู้นำเครือข่ายป่าชุมชนทั้ง 16 แห่งของ อ.เวียงแหง ณ ป่าชุมชนบ้านป่าไผ่และลานกิจกรรมกาดแลงแสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มุ่งสู่การขยายโมเดลโครงการ “ป่าปลอดเผา” เฟส 2 หลังประสบความสำเร็จในการลดปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่นำร่อง 6 ชุมชนมาแล้ว

พิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์

นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า โครงการ “ป่าปลอดเผา” เป็นหนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนืออย่างเป็นรูปธรรม โดยผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกับภาควิชาการ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีการจัดการเชิงบูรณาการ นำนวัตกรรมและองค์ความรู้ สู่โมเดลการจัดการเชื้อเพลิงในป่า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเก็บใบไม้แห้งมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำไปใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตร ลดการเผา และสร้างรายได้ให้กับชุมชน สำหรับเฟสแรก ได้นำร่องใน 6 ป่าชุมชนของอ.เวียงแหง ซึ่งถือเป็นจุดที่ใกล้แนวเขตชายแดงไทย – เมียนมา ที่มีจุดความร้อนสูง สำหรับปีนี้เป็นการขยายโมเดลไปใช้ให้ครอบคลุม 16 ป่าชุมชน ใน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยยังคงมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการเชื้อเพลิงในป่า โดยเครือซีพี จะสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การจัดการ และงบประมาณในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ได้มีแผนต่อยอดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การบริหารจัดการป่าชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลกับพื้นที่

“เราเชื่อมั่นว่า โครงการป่าปลอดเผา เฟส 2 จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนืออย่างยั่งยืน และสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน” นางสาวพิไลลักษณ์ กล่าวฯ

ADVERTISMENT

สำหรับเวทีสมัชชาป่าชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 เวียงแหง เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยวเมืองแห่งการอนุรักษ์ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน มีการแลกเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการป่าชุมชนของเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ สะท้อนจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค ในการขับเคลื่อนกลไกการทำงานของทุกภาคส่วน ตลอดจนลงพื้นที่เยี่ยมชมป่าชุมชน อ.เวียงแหง ในการสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดการท่องเที่ยว การจัดการไฟป่าและเชื้อเพลิง ตลอดจนขยายผลเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสู่โรงเรียนในพื้นที่ โดยมีโครงการ “ป่าปลอดเผา” เป็นกรณีศึกษาแก่เครือข่ายต่างๆ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ โครงการ “ป่าปลอดเผา” เฟส 2 คาดว่าจะสามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่า ลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการเก็บและแปรรูปใบไม้แห้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนในภาคเหนือต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง