
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดิจิทัลแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการลดอคติและสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ ยึดมั่นในแนวคิด Diversity, Equity, Inclusion (DEI) ไม่เพียงแค่ในระดับนโยบาย แต่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงผ่าน เทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ถูกปิดกั้นเพราะข้อจำกัดใด ๆ
เนื่องใน วันสตรีสากล ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงและการสร้างสังคมที่เสมอภาค AIS ไม่เพียงแต่สนับสนุนความหลากหลายภายในองค์กร แต่ยังใช้ AI เป็น “สะพาน” ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการคัดเลือกบุคลากรที่โปร่งใส การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ไปจนถึง การสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางสามารถแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
Fit Fun Fair การปฏิวัติวัฒนธรรมเพื่อความเท่าเทียม
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS กล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อน DEI ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กรว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา AIS มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและโครงสร้างการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับพนักงานทุกคน ทั้งในด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ และการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างและเหมาะสมกับทุกกลุ่มบุคลากร
“องค์กรที่แข็งแกร่งต้องมีความหลากหลาย เหมือนสวนที่มีดอกไม้หลายสี เราเชื่อว่าความแตกต่างคือพลัง ไม่ใช่ข้อจำกัด การบริหารคนไม่ควรเป็นเรื่องของ ‘แพทเทิร์นเดียวกัน‘ อีกต่อไป เราต้องสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้เติบโตอย่างเท่าเทียมภายใต้กติกาของสังคม เปลี่ยนแนวคิดจากลำดับชั้นแบบเก่า สู่การให้โอกาสคนที่มีศักยภาพ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง โดยยึดหลัก Fit, Fun, Fair – ให้พนักงานมีความสามารถและสุขภาพที่ดี พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Fit) สนุกกับทุกความท้าทาย (Fun) และความเท่าเทียมของโอกาส รวมถึงการยอมรับในทุกความแตกต่าง (Fair) เพราะองค์กรที่ดีต้องไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนรู้สึกมีคุณค่าและเติบโตไปด้วยกัน”
ขณะเดียวกัน กานติมา ยังเล่าถึงแนวคิดเรื่องการใช้ เทคโนโลยี AI เพื่อส่งเสริมการทำงานของพนักงานว่า
“AI ไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาเสริมศักยภาพให้คนที่พร้อมพัฒนา ความหลากหลายในองค์กรไม่ใช่แค่เพศ อายุ หรือความสามารถ แต่หมายถึงการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเอง AI ที่เรานำมาใช้ ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องธุรกิจ แต่ช่วยให้กลุ่มเปราะบาง พนักงานที่มีข้อจำกัด และคนรุ่นใหม่ มีโอกาสเท่าเทียมกันในการทำงาน นี่คือแนวทางที่ AIS ใช้ในการสร้างองค์กรที่เติบโตไปพร้อมกับสังคม”
เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกคนทำงานได้อย่างเท่าเทียม
จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง AIS ได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างทัดเทียม หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนสิ่งนี้คือเรื่องราวของ รสสุคนธ์ โตประยูร พนักงานคอลเซ็นเตอร์ผู้พิการทางสายตา ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เทคโนโลยีสามารถขจัดข้อจำกัด และเปิดโอกาสให้ทุกคนทำงานได้อย่างเท่าเทียม
“AIS มองเห็นศักยภาพของเรามากกว่าข้อจำกัดทางร่างกาย การได้เข้ามาทำงานที่ AIS เป็นเรื่องที่มีความหมายมากสำหรับตัวเอง AIS ไม่เพียงแค่ให้โอกาสคนพิการได้เข้ามาทำงาน แต่ยังเตรียมพร้อมในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่ช่วยแปลงข้อมูลที่เกี่ยวกับบริการต่าง ๆ เป็นเสียง ทำให้เราสามารถนำเสนอบริการที่ตรงใจ และสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ในทุก ๆ เรื่อง นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าความสามารถสำคัญกว่าข้อจำกัดทางร่างกาย”
เธอเชื่อว่า “ความสามารถสำคัญกว่าข้อจำกัดทางร่างกาย” และอยากให้กำลังใจทุกคนว่า
“ทุกอย่างต้องมีก้าวแรกเสมอ อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะชีวิตยังมีวันพรุ่งนี้เสมอ ถ้าเราเปิดใจพร้อมเรียนรู้ ปรับตัว และสื่อสารกับทีมงานอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ที่ AIS เราไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่มีทีมที่พร้อมสนับสนุนและให้คำแนะนำเสมอ ตนเองภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และมุ่งมั่นสร้างโอกาสให้กับทุกคน”
AI ไม่ใช่ของคนรุ่นใหม่เท่านั้น
เรื่องราวของรสสุคนธ์เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่เป็นสะพานที่เชื่อมทุกคนให้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานกลุ่มเปราะบาง หรือพนักงานอาวุโสที่อาจเคยถูกมองว่าไม่ถนัดด้านดิจิทัล แต่วันนี้พวกเขากำลังใช้ AI เป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงาน
คุณสุนทรี งามวิทย์โรจน์ นักบริหารโปรเจกต์พัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชันส์ของ AIS เล่าว่า
“ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ AIS เราได้เห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงองค์กรไปอย่างมาก โดยเฉพาะการนำ AI และแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทุกวันนี้ AI ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้พนักงานรุ่นใหญ่สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบสรุปรายงานอัตโนมัติ ระบบแนะนำข้อมูลลูกค้า หรือเครื่องมือช่วยประชุมที่ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาด และมีเวลามากขึ้นสำหรับการพัฒนากลยุทธ์ที่สำคัญ
เธอเชื่อว่า “AI ไม่ใช่ศัตรูของแรงงาน แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเปิดใจเรียนรู้ เทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราใช้งานมันอย่างถูกต้อง คนที่ใช้ AI เป็น ไม่เพียงแต่จะไม่ตกงาน แต่ AI กลับยิ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
AIS JUMP Thailand Hackathon คนรุ่นใหม่กับภารกิจสร้างเทคโนโลยีเพื่อสังคม
หากเรื่องราวของ รสสุคนธ์ และ พนักงานรุ่นใหญ่ของ AIS แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยให้ทุกคนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร ก็คือ พนักงานรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี แต่ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคม
เปรื่องปรัช พันธุ์ดี วิศวกรรุ่นใหม่ของ AIS กล่าวว่า
“AIS เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กต่างจังหวัด หรือมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ผมได้รับโอกาสทำโปรเจกต์มากมายที่เกี่ยวข้องกับ 4G, 5G และ IoT ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะพนักงานอาวุโสเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดช่องว่างทางโอกาสให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้สูงวัย”
หนึ่งในโครงการที่ เปรื่องปรัช ภูมิใจ คือการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่าน JUMP Thailand Hackathon ซึ่งเป็นโครงการให้พนักงานเอไอเอสได้มีโอกาสได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และคำแนะนำแก่คนรุ่นใหม่ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง โดยเขามีโอกาสทำงานร่วมกับนิสิตและนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อพัฒนา เทคโนโลยีแจ้งเตือนการล้มของผู้สูงอายุ และระบบเตือนเวลาทานยา ซึ่งใช้ NB-IoT และ Intelligent Network มาช่วยให้การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การที่ AIS สนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมโครงการ JUMP Thailand Hackathon ทำให้เราเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใช้แค่ในองค์กร แต่ยังช่วยสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
AIS เชื่อว่าเทคโนโลยีคือสะพาน ไม่ใช่กำแพง
ขณะที่ พิชญะ อินทรพัฒนาวาณิช พนักงานจากโครงการ The Masters แสดงให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเติบโตในองค์กรที่มีความหลากหลาย สามารถช่วยขยายศักยภาพของบุคลากร และทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างวัยที่หลากหลายเป็นไปได้อย่างราบรื่น
“ก่อนเข้ามาทำงานที่ AIS ผมให้ความสำคัญกับโอกาสมากกว่าสิ่งอื่น เพราะผมเชื่อว่าองค์กรที่ดีต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และพัฒนา AIS ไม่ได้มองแค่ทักษะหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ให้โอกาสเราเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง”
ในโครงการ The Masters ซึ่งเป็นการเฟ้นหา Digital Talent รุ่นใหม่มาร่วมงานกับองค์กร พิชญะ ได้มีโอกาสหมุนเวียนไปทำงานในกว่า 3 แผนก ตลอด 18 เดือน ทำให้เขาเข้าใจ บริบทของการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ได้สร้างเครือข่ายกับพนักงานจากหลายฝ่าย และค้นพบว่าตนเองสามารถเติบโตไปในทิศทางไหน
“โอกาสที่ AIS มอบให้ไม่ได้มีแค่โครงการนี้ แต่ยังรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เช่น งานสื่อสารองค์กร การเป็นพิธีกรงานสำคัญ หรือแม้แต่การทำโปรเจกต์ด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจริง ๆ”
“เมื่อเทคโนโลยีถูกใช้เพื่อขยายโอกาสแทนที่จะสร้างข้อจำกัด
เมื่อทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น
เราจะเห็นอนาคตที่ ‘ความเท่าเทียม‘ ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิด แต่เป็นความจริงที่ทุกคนสัมผัสได้”
อนาคตของสังคมที่เท่าเทียมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ “เราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนได้อย่างไร”
AIS เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยี และเชื่อในพลังของ “ทุกคน” เมื่อเราร่วมกันใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสแทนที่จะปิดกั้น เรากำลังสร้างโลกที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และ “อนาคตที่เท่าเทียม” กำลังเริ่มต้นจากวันนี้… จากเราทุกคน