“อนุทิน” นำประชุมติดตาม ความไม่สงบชายแดนใต้ สั่ง 4 กรม สังกัดมหาดไทย เร่งมาตรการ หนุนแก้ปัญหาพื้นที่

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 68 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมประชุม และจัดประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล โดยการประชุมเร่งด่วนครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุระเบิดและโจมตีในหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเดือนรอมฎอนที่ชาวมุสลิมถือเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์

ก่อนเริ่มการประชุม นายอนุทินได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ สะท้อนถึงความห่วงใยที่พระองค์มีต่อประชาชนในพื้นที่

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำที่อุกอาจและไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือกลอบวางระเบิดและใช้อาวุธปืนโจมตีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเดินทางไปประกอบศาสนกิจละหมาดในช่วงเดือนรอมฎอน กระทรวงมหาดไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้และยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งประชาชนและทรัพย์สินของทางราชการเพิ่มขึ้นหลายเท่า” นายอนุทินกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ต้องเผชิญกับอันตรายโดยตรง พร้อมสนับสนุนให้มีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ADVERTISMENT

ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำในการบริหารราชการควบคู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเข้มข้น ต้องมีการแบ่งมอบภารกิจให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการอย่างชัดเจน ไม่มีช่องว่างในการปฏิบัติงาน หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำคือการลงพื้นที่สร้างความคุ้นเคยกับผู้นำท้องที่และท้องถิ่น เพื่อยกระดับงานด้านการข่าวซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันเหตุก่อความไม่สงบ โดยให้ใช้กลไกด้านการข่าวของพื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด และสรุปข้อมูลรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายอนุทินยังกำชับให้มีการประสานกับกองทัพภาคที่ 4 เพื่อเร่งนำเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อส.จชต.) เข้ารับการฝึกให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มทักษะและความพร้อมของกำลังพลในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ADVERTISMENT

จากนั้น รมว.มหาดไทยได้ออกมาตรการสำคัญโดยสั่งการให้ 4 กรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเร่งปรับปรุงแนวทางการทำงานเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย

กรมการปกครอง – ให้ทบทวนมาตรการป้องกันการก่อเหตุโจมตีสถานที่สำคัญในพื้นที่ โดยเฉพาะเหตุโจมตีด้วยรถยนต์ระเบิด (คาร์บอม) รวมทั้งยกระดับการเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง พร้อมเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายโอนกำลังทหารไปสู่ฝ่ายปกครองในอนาคต

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น – ให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุด้านงบประมาณตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และประสานผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู เยียวยา สงเคราะห์ และบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย – ให้สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และบุคลากร เพื่อช่วยเหลือทั้งในขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะการสำรวจความเสียหายและการฟื้นฟูพื้นที่

กรมการพัฒนาชุมชน – ให้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนด้านอาชีพ และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่รอบโรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง

ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเสริมในที่ประชุมว่า “ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในจังหวัด เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ในจังหวัด ผู้ว่าฯ จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ แม้ว่าผู้ว่าฯ จะสามารถให้การช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็วซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดียิ่งแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการคิด ระดมสมอง และระดมสรรพกำลังต่อไปอีกว่า จะทำอย่างไรไม่ให้สถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำ”

ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังเน้นย้ำให้วิเคราะห์ว่ามีจุดบกพร่องหรือช่องโหว่ใดที่ทำให้เกิดเหตุในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการข่าว ทั้งนักการข่าวและปลัดอำเภอประจำตำบล ต้องใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อร่วมกันสอดส่องดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่อย่างทั่วถึง

“ป้องกันคือสิ่งที่ดีที่สุด ดีกว่าการเยียวยาและช่วยเหลือ” นายอรรษิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในฐานะผู้นำในส่วนภูมิภาคที่ต้องเป็นหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่

การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมายาวนาน ท่ามกลางความท้าทายในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในพื้นที่