
DPU เปิดโครงการ From Classroom to Career เสริมศักยภาพครูจากทั่วประเทศ พัฒนา–เรียนรู้เชิงลึกในการค้นหาศักยภาพของผู้เรียน
ฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการ From Classroom to Career “เส้นทางสู่ความสำเร็จเริ่มต้นที่ DPU” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพ สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนต่อและเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น
เปิดโอกาสให้ครูแนะแนวได้เรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปให้คำปรึกษานักเรียนได้อย่างตรงจุด โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานเปิดโครงการ มีคณาจารย์จาก DPU และครูแนะแนวทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก ณ ห้องประชุมสำนักอธิการบดี 5-2 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า “ด้านการจัดการศึกษาเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่า AI จะเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของมนุษย์ ไม่ใช่เข้ามาแทนที่ เราจึงมุ่งพัฒนานักศึกษาให้สามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือหรือ ‘บัดดี้’ ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาทักษะที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งได้แก่ Soft Skills เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความเข้าใจมนุษย์ เพราะเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ อัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ที่เทคโนโลยีไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ดังนั้นหลักสูตรของเราเกือบทั้งหมดจึงเป็นหลักสูตรที่รู้จักการใช้ AI ในการเสริมศักยภาพผู้สอนและผู้เรียน”
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 19 คณะและวิทยาลัย ครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และบริการ และ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในสายสุขภาพ เน้นการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ โดยบูรณาการองค์ความรู้หลายด้านมาใช้ร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมให้เรามีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัยเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ของโลกที่กำลังเผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และการขาดการดูแลสุขภาพ หลักสูตรของมหาวิทยาลัยจึงเน้นการเรียนรู้เรื่องการรับประทานอาหารให้เป็นยา การใช้สารอาหาร–วิตามินเพื่อป้องกันโรค และการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย ด้วยเป้าหมายในการสร้างผู้สูงอายุที่แข็งแรง ทำงานได้ และไม่จำเป็นต้องพึ่งยาในระยะยาว
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยได้ออกแบบหลักสูตรกลุ่มวิชา GenEd ภายใต้ชื่อ DPU CORE เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านโครงงานจริง (Project-Based Learning) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รายวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ได้รับการออกแบบให้เสริมสร้าง Soft Skills 6 ด้าน ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้เทคโนโลยีควบคู่กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต นักศึกษาที่เรียนจบในแต่ละโมดูลจะได้รับ Digital Badge หรือใบรับรองผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แสดงระดับความสามารถในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เพื่อใช้ยืนยันทักษะต่อองค์กรหรือผู้จ้างงานในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายภัฏ เตชะเทวัญ ผู้อำนวยการ Corporate Strategy & Planning และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บรรยายในหัวข้อ หลักสูตรตัดสินใจเลือกคณะอย่างไร ไม่เสียใจภายหลัง ว่า จากผลการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 80,000 คนทั่วประเทศ พบว่าในช่วงต้นปีการศึกษา มีนักเรียนมากถึง 61% ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกเรียนคณะใด
เมื่อเข้าสู่เทอม 2 ตัวเลขนี้ยังคงอยู่ที่ประมาณ 46% สะท้อนถึงความไม่มั่นใจและขาดเป้าหมายของนักเรียนจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสมัครเรียนในระบบ TCAS โดยเฉพาะรอบ Portfolio ที่ต้องใช้ข้อมูลและการตัดสินใจที่ชัดเจน นอกจากนี้จำนวนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกและต้องสมัครใหม่หรือเปลี่ยนสายการเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 มีมากถึง 90,000 คน ที่สวนทางกับจำนวนประชากรที่ลดลง
“เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้มหาวิทยาลัยได้นำแบบทดสอบที่ใช้ในระดับนานาชาติในการประเมินวุฒิภาวะการตัดสินใจมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย การวิจัยเบื้องต้นพบว่า วุฒิภาวะของนักเรียนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นตามระดับชั้นเรียน โดยเฉพาะมัธยมปลายซึ่งควรมีความพร้อมสูงขึ้นในการเลือกอาชีพ แต่กลับมีระดับคะแนนเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับนักเรียนมัธยมต้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ที่มีนักเรียนถึง 55% แสดงวุฒิภาวะในระดับสูง หรือกลุ่มประเทศที่ใช้การประเมินนี้เป็นมาตรฐาน พบว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะการตัดสินใจให้กับนักเรียนไทยอย่างจริงจัง” ผู้อำนวยการ Corporate Strategy & Planning และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายแนะแนวการศึกษา DPU กล่าว
จากการใช้แบบประเมินจิตวิทยาเกี่ยวกับสไตล์การตัดสินใจ พบว่านักเรียนที่มีคะแนนต่ำมักรู้สึกไม่พร้อม ขาดความมั่นใจ และไม่สามารถจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจได้ดีนัก สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงกระทบกับการเลือกคณะหรืออาชีพในช่วงวัยเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตในอนาคตด้วย ข้อมูลดังกล่าวมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงได้ร่วมมือกับองค์กรในประเทศไทย ออกแบบ“หลักสูตรส่งเสริมวุฒิภาวะในการตัดสินใจ” ที่เน้นการพิจารณาทั้งด้านตัวตนของผู้เรียน และบริบททางสังคมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต
สำหรับกิจกรรมตลอดเวลา 2 วัน จะเน้นการเรียนรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและประสบการณ์จริง โดยวันแรกช่วงเช้าเริ่มด้วยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร แนวทางการแนะแนวอาชีพ และแนวคิด “Career Preparation Center” ซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเองมากขึ้น ทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน และเป้าหมายในอนาคต จากนั้นช่วงบ่ายคุณครูจะได้เยี่ยมชมพื้นที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย เช่น โรงยิม ห้องสมุด และพื้นที่เรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อสัมผัสบรรยากาศการใช้ชีวิตของนักศึกษาอย่างรอบด้าน ส่วนวันที่สองจะพาเยี่ยมชมแต่ละคณะอย่างเจาะลึก พร้อมเปิดโอกาสให้พูดคุยกับคณาจารย์ เพื่อให้คุณครูนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ในการแนะแนวให้นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ