
คณะองคมนตรีนำโดย นายพลากร สุวรรณรัฐ พร้อมด้วยองคมนตรีอีก 8 ท่าน ประกอบด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ และ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
การประชุมครั้งนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2568 อย่างเร่งด่วน
นายพลากร สุวรรณรัฐ เผยว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปี 2559 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะองคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสที่ทรงห่วงใยประชาชน โดยมีใจความสำคัญ 2 ประการ คือ 1) ขอให้ทุกฝ่ายประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมรับสถานการณ์อันเกิดจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ และ 2) ขอให้มีการปรับแผนเผชิญเหตุอยู่ตลอดเวลา ให้สอดรับกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างฉับไวและทันท่วงที ซึ่งคณะองคมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมเช่นนี้ทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวอย่างจริงจังว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ ที่หลายพื้นที่ของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก
“ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เราต้องช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดปัญหา” นายอนุทินเน้นย้ำ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลได้กำหนดแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งเป็นการล่วงหน้า 3 ด้านสำคัญ
ประการแรก คือการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์ หน่วยงานทางวิชาการ และหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนมาอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง ในระดับพื้นที่ นายอนุทินได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม จัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งในทุกระดับ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนให้พร้อมช่วยเหลือประชาชน รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำและความช่วยเหลือของภาครัฐ
ประการที่สาม สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง นายอนุทินได้กำชับให้ดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า และหากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ใด ให้บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ทั้งการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค และการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทั้งด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2568) พบว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไปแล้ว 3 จังหวัด 11 อำเภอ 16 ตำบล 96 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และกาญจนบุรี
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2568 พบว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2568 สถานการณ์ภัยแล้งและอากาศร้อนจะรุนแรงน้อยกว่าในปี 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอปภ.ช. ได้นำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 เป็นหลักในการบริหารจัดการ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และระดมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม เครื่องเจาะบ่อบาดาล/บ่อน้ำตื้น รวม 48 รายการ 2,188 หน่วย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัด และได้ขอรับการสนับสนุนงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งด้านการฟื้นฟูและบูรณะแหล่งน้ำเดิม การกักเก็บน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน แหล่งน้ำสำรอง การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำและกำจัดวัชพืช การเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับประปาหมู่บ้าน และการเป่าล้างบ่อบาดาล รวม 427 โครงการ ในพื้นที่ 23 จังหวัด 79 อำเภอ 128 ตำบล
นายอนุทินกล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการมหาดไทยเติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง ปี 2568 ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 26 มีนาคม 2568) ถือเป็นโครงการสำคัญที่สามารถช่วยสูบน้ำกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำในพื้นที่ 18 จังหวัด ด้วยปริมาณน้ำที่สูบได้ 7,383.792 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างประโยชน์ให้ประชาชนแล้วกว่า 8,720 ครัวเรือน รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งประชาชน เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกคนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ และเราจะเร่งรัดการช่วยเหลือให้ถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย