
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ แนวคิดความยั่งยืนจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นเข็มทิศสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่มั่นคง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ เครือซีพี ได้ให้ความสำคัญและนำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง
ด้วย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.9999 ตามกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้องค์กรอุตสาหกรรมไทยน้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างระบบการจัดการขององค์กรให้สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผ่านหลักการสำคัญตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 3 ด้าน คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนพื้นฐานของความรู้และคุณธรรม
ล่าสุด ได้มีการมอบประกาศนียบัตรมาตรฐาน มอก.9999 ให้แก่ 7 บริษัทในเครือซีพี ที่ผ่านการทวนสอบจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ถือเป็นการตอกย้ำบทบาทองค์กรต้นแบบที่ยกระดับหลักคิดพอเพียงสู่ระบบบริหารที่วัดผลได้
พอเพียง ต้นแบบของความยั่งยืน
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มอก.9999 ว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และเกิดความสุขต่อตนเองและสังคม รวมไปถึงการทำความดีและต้องถูกต้องควบคู่ด้วย
หากวันนี้เราสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร หากสามารถทำเช่นนี้ได้คนผู้นั้นอยู่รอดแล้ว คำว่าความยั่งยืนต้องมีสามคำ สมดุลย์ มั่นคง และยั่งยืน
จึงเป็นที่มาของการพัฒนามาตรฐานมอก.9999 เพื่อเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นรูปธรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นภาคธุรกิจไทยอย่างเครือซีพีได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยเฉพาะการที่ซีอีโอเครือซีพี สื่อสารและขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการสืบสานพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
สิ่งที่ ดร.สุเมธ อยากฝากไว้คือ อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยโปรโมทมาตรฐาน มอก.9999 ให้มากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรวัดของตนเองที่สอดคล้องกับความยั่งยืนแล้ว ผลจะตกอยู่กับประโยชน์สุขของแผ่นดิน และยังได้เสนอให้ใครก็ตามที่ต้องการจะมาลงทุนที่ประเทศไทย ต้องขอมาตรฐาน มอก.9999 เป็นข้อกำหนดอีกด้วย
ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่แค่ปรัชญาหรือมาตรฐาน แต่มีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของคำสอน และเป็นแนวทางดำเนินชีวิตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด
เครือซีพีน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและพร้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักคิดนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งและทำให้เราตระหนักว่าองค์กรต้องทำธุรกิจบนพื้นฐานที่มั่นคง ยั่งยืน ไม่ทำอะไรเกินตัว แข็มแข็งและไม่อ่อนแอ
“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจ เพราะแนวคิดนี้มีความหมายลึกซึ้งเกินไปกว่าการเป็นคนเก่งและดี แต่ลึกลงไปถึงการมีความสุขในการทำหน้าที่ในทุกวัน”

7 บริษัทในเครือซีพีผ่านมาตรฐาน มอก.9999
องค์กรในเครือซีพีที่ต้นแบบและได้รับการรับรองมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.9999 ได้แก่ 1. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด 2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) – ธุรกิจอาหารสัตว์บก 3. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6. ธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด และ 7. บริษัท ซีพีแรม จำกัด
โดยได้มีตัวแทนขึ้นรับรางวัล ได้แก่ ชุมพล ลีละศุภพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า มอก.9999 เส้นกรอบที่ทำให้นำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง และสามารถใช้กับทุกธุรกิจ ทุกรูปแบบ และสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนได้
เรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจอาหารสัตว์บก CPF แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์บุก ได้นำระบบนี้มาฝังในระบบงานและกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ บุคลากร สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
มาลี อุทัยกิตติศัพท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ CPALL เปิดเผยว่า ในแง่ของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มุ่งเน้นการใช้บริหารคนเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ คำนึงถึงความรับผิดชอบของสังคม 3 แกน คือ สร้างคน-สร้างอาชีพ-สร้างชุมชน
นางศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร CP Axtra บอกเล่าว่า ความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของการทำธุรกิจ โดยใช้หลักนี้เป็นหลักในการเปิดสาขาใหม่ ต้องมีการจ้างงานในชุมชน เกษตรกรท้องถิ่น ใช้เป็นวงจรชีวิตไม่ใช่แค่ CSR
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร TRUE เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีหลากหลาย โดยได้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่กับเน็ตเวิร์ค ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนร่วมกับชุมชนในการแบ่งปันความรู้ด้านการลดพลังงาน-คาร์บอน
สำหรับเครือซีพี แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่เพียงถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ความยั่งยืนขององค์กร แต่ยังถูกฝังรากอยู่ในระบบ CP Excellence รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ เช่น กาแฟสบขุ่น จ.น่าน และน้ำตาลโตนดผง จ.สงขลา นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ มอก.9999” เพื่อประสานการทำงานจากทุกกลุ่มธุรกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง