19 ปี “ชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า” สร้างโอกาสทางการศึกษา ดึง “ม.มหิดล” ร่วมถอดบทเรียนหนุนปัญญาชนไทย

เข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว สำหรับโครงการทุนการศึกษา ของบริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า “ชาร์ป” ที่เรียกได้ว่าปิดทองหลังพระด้วยการสร้าง “ผู้รับ” ให้เป็น “ผู้ให้” คืนคุณค่ายิ่งใหญ่สู่สังคม ตั้งแต่ปี 2544 เกิดโอกาสและสร้างรอยต่อทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบคลุมพื้นที่ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

จากก้าวแรกจนวันนี้ สู่ความตั้งใจที่อยากจะให้เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาทั่วราชอาณาจักรไทย ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันอย่างต่อเนื่อง “โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า” ซึ่งเป็นทุนที่ให้เปล่า 10 ปี ไม่มีข้อผูกมัด ไม่กำหนดว่าจะต้องจบระดับอาชีวะ หรืออุดมศึกษา เพียงแต่หวังให้เป็นบุคคลต้นแบบในวิชาชีพต่างๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนที่ได้รับโอกาสนี้ไปแล้วกว่า 3,000 คน เกิดผลิตผลรับใช้ชาติและตอบแทนท้องถิ่นมากมาย แทบจะอยู่ในทุกวงการอาชีพ

เติมเต็มศักยภาพเด็กไทยอย่างรอบด้าน นับตั้งแต่ระยะที่ 1 ของโครงการฯ (2544-2553) ด้วยแนวคิดปลูกคุณธรรมจริยธรรมและเสริมทักษะชีวิต ระยะที่ 2 (2554-2557) ภายใต้แนวคิดเข้าสู่สังคมดิจิทัล ปรับนโยบายและกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างนักเรียนให้ “คิดเป็น” ระยะที่ 3 (2558-2562) กับแนวคิดที่เน้นเข้าสู่บทบาท “Knowledge Transfer” สร้างครูให้มีคุณสมบัติที่แข็งแรงทางความคิดและปรับตัวได้เร็วทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป ระยะที่ 4 (2563-2564) ซึ่งเป็นช่วงท้ายของโครงการก่อนจะจบภารกิจในปี 2567 ซึ่งก็ได้เน้นไปที่การเติมเต็มให้นักเรียนทุนฯ มีความรู้ ทักษะชีวิต การวิเคราะห์-แก้ปัญหา ที่ทันต่อเหตุการณ์และอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือการเน้นให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
ด้วยปณิธานที่ตั้งมั่นสู่เส้นทางในการดำเนินงาน เพื่อให้เยาวชนไทย “หลุดพ้นจากความยากจน” เติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมจะเป็น “ผู้ให้” แก่ครอบครัว และสังคม ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรุงไทยการไฟฟ้า ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนางานวิจัยโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด “19 ปี เส้นทางของการให้โอกาสทางการศึกษา : สู่การพัฒนาเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน” ร่วมทำวิจัยปี 2563- 2569 เพื่อถอดบทเรียนและวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนว่า การให้โอกาสทางการศึกษามีความสำคัญต่อการสร้างคนที่จะเป็นผลผลิตกลับคืนสู่สังคมและประเทศชาติมากน้อยเพียงใด โดยการลงนามครั้งนี้ “ศรีชัย พรประชาธรรม” ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยาน ร่วมลงนามระหว่าง “ศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย” ประธานโครงการทุนการศึกษา กรุงไทยการไฟฟ้า, “สงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย” ประธานคณะดำเนินงานโครงการทุนฯ, “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ “ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“ศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย” กล่าวว่า โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ดำเนินกิจกรรมให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยมาเป็นปีที่ 19 โดยตลอดระยะเวลาดำเนินงานที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา ไม่ได้ทำเพื่อให้แค่ทุนการศึกษาแล้วจบเท่านั้น แต่เรายังสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อช่วยเติมเต็มศักยภาพของเยาวชนไทย ให้ได้ทั้งวิชาการ วิชาชีพ ทักษะธรรมนำชีวิต จนถึงการทันโลกทันสถานการณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่หล่อหลอมนักเรียนทุนฯ มาตั้งแต่วันที่เขาได้รับทุนจนจบการศึกษาชั้นสูงสุด ที่สำคัญได้ถ่ายทอดดีเอ็นเอที่เป็นอัตลักษณ์แก่เยาวชนเหล่านี้ให้เป็นคนมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ และกตัญญู เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าที่ผ่านวันเวลาเติบโตและผลิตผลที่งดงาม โดดเด่น เพราะได้รับโอกาสทางการศึกษา เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านพ้นความยากจน มีอาชีพการงานมั่นคง และยังเปิดโอกาสของการได้เป็น “ผู้ให้” เผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นหลังจากที่ตนสามารถยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว

“ถ้าเด็กตั้งใจเรียนเราก็จะส่งให้จนกระทั่งเด็กสามารถเรียนในอุดมศึกษาได้ จุดประสงค์ที่เรามองตรงนี้ เพื่อที่จะให้เด็กยากจนได้มีโอกาสทางการศึกษา และในส่วนของความคิด คุณธรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้เด็กเติบโตต่อไปเป็นคนดีและมีความรู้ ความสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมและประเทศต่อไปในอนาคต”
ด้าน “สงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย” กล่าวว่า การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งนี้ จะช่วยถอดบทเรียนและวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน อันเป็นผลผลิตของโครงการทุนฯ ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่โครงการทุนฯ ได้ให้ “โอกาส” ทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ยากจนในชนบท โดยการมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากิจกรรมต่างๆ แก่เยาวชน ในแง่มุม “การเปลี่ยนผ่านของสังคมที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล” อย่างเข้มข้น รวมไปถึงได้ผลวิจัยที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่ภาคการศึกษา ภาคสังคม และภาคธุรกิจ โดยสามารถนำผลวิจัยไปขยายผลให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อช่วยเหลือแก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“สำหรับโครงการทุนฯ ความหมายที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราให้ทุนการศึกษา แต่เราไม่สนใจเลยว่าเด็กจะจบอะไร เราไม่สนใจเลยว่าเขาเป็นคนดีหรือเปล่า อันนี้ไม่ใช่อุดมคติของเรา เด็กเหล่านี้ที่เราคัดเลือกมาคุณสมบัติแรก คือ เป็นเด็กยากจน เป็นเด็กดี และเป็นเด็กที่มีความต้องการที่จะเรียนหนังสือ วันแรกที่เขามารับทุนไม่สำคัญเท่ากับวันที่เรียนจบ ฉะนั้นถ้าหากวันที่เขาเรียนจบและมีงานทำ จนกระทั่งสามารถตั้งตัวได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาจะพ้นจากความยากจน”

ขณะที่ด้าน “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” กล่าวว่า โครงการทุนฯ ดำเนินการมา18 ปี มีข้อมูลมากมาย ที่สำคัญอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เป็นประโยชน์ที่ดีมากที่ทางกรุงไทยการไฟฟ้าได้มองว่า น่าจะต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดจริงๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่ ควรจะต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร เราเองในฐานะคนวิจัย เราเห็นทุนแบบนี้ ก็อยากให้ดำเนินการต่อ อยากให้คนที่เห็นความสำคัญกับการพัฒนาคน ได้ทำงานต่อเนื่องไปอีกยาวๆ ฉะนั้น จะพยายามคัดบทเรียน พยายามบอกให้ได้ว่าวิธีทำโครงการหลังจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาต่อไปอย่างไร ยิ่งกับเจเนอเรชันใหม่จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งก็หวังว่าจะมีผลต่อการพิจารณาต่อโครงการนี้ในระยะยาวต่อไปอีก 10-20 ปี

สร้าง “คนคุณภาพ”
ที่มีคุณค่าต่อตัวเอง สังคม และประเท
นอกจากจะมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างนักเรียนทุนฯ ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นบุคคลต้นแบบในวิชาชีพต่างๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดย “อดิศักดิ์ ปู่หล้า” หนึ่งในนักเรียนทุนรุ่นแรกปี 2544 ซึ่งปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเลโคะ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารบนเขตพื้นที่สูงชายแดนไทย-เมียนมา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนทุน ตนเองเป็นสามเณรทุนชั้น ม.5 โรงเรียนเชตุพนศึกษา (ในพระสังฆราชูปถัมภ์) จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับทุนนี้จากคุณครูแนะแนว ที่คัดเลือกเราจากการเรียนดีและมีฐานะอยากจน ผมเองเป็นเด็กกำพร้า พ่อผมเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จึงเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้ผมได้เข้าสู่โครงการทุนของกรุงไทยการไฟฟ้า หลังจากบวชเป็นสามเณร จบ ม.6 ก็ได้ทุนสนับสนุนเรียนต่อที่ มภร.เชียงราย หลักจากนั้นก็ได้เป็นครูอัตราจ้าง และนำไปสู่การสอบบรรจุ และก็ได้ปฏิบัติราชการอยู่ที่เลโคะจนถึงปัจจุบัน

“โครงการไม่ได้มีข้อแม้ใดๆ ว่าจบแล้วต้องทำอะไร เขาให้อิสระเราอย่างเต็มที่ในสิ่งที่เราอยากจะเป็น 10ปีที่ผ่านมา เขาให้อิสระเราเต็มที่ จะสายสามัญหรืออาชีพก็ได้ เราเคยเป็นผู้รับ วันนี้มีโอกาสจึงอยากเป็นผู้ให้ คุณสงวนศรีสอนเสมอว่า หากเรามีโอกาสที่จะกลับไปเป็นผู้ให้ได้ ก็ให้ทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งผมเลือกให้ความรู้ ใช้สติปัญญาที่ผมมีสอนเด็กๆ ในพื้นที่ชายแดน ให้มีองค์ความรู้เหมือนกับเรา”
เช่นเดียวกับ “อนุสรณ์ มีบุญ” ประธานศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติบ้านวังไทร จ.สุโขทัย หนึ่งในนักเรียนทุน ปี 2547 เผยถึงความประทับใจว่า เป็นโครงการทุนที่นอกจากจะให้โอกาสทางการศึกษา ยังให้เครื่องมือชิ้นหนึ่งคือ “การใช้ชีวิต” ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ถ้าทุกวันนี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุน หรือไม่รู้จักกรุงไทยการไฟฟ้า คงไม่พ้นไปรับจ้างก่อสร้าง เพราะว่าช่วงนั้นฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี พ่อแม่ก็เป็นคนรับจ้างก่อสร้าง ก็คงติดสอยห้อยตามไปรับจ้างกับเขา คงไม่ได้มามีฐานะมั่นคงในชุมชน หรือเป็นที่รู้จักของคนใน จ.สุโขทัย ซึ่งตนเองเลือกตอบแทนสังคมโดยการนำองค์ความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาบ้านเกิด มาช่วยบริหารจัดการพื้นที่ น้ำ ดิน และทรัพยากรต่างๆ จนกระทั่งสามารถเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนภายใต้ชื่อ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ” ที่ร่วมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและน่าอยู่
“พ.ต.ต.สุรชัย บริบูรนางกุล” นักวิทยาศาสตร์ (สบ.2) พิสูจน์หลักฐาน จ.น่าน อีกหนึ่งนักเรียนทุนในปี 2547 เล่าว่า เป็นโครงการที่ดีมากๆ ที่สนับสนุนให้เด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งได้พัฒนาตนเองมาเป็นกำลังของชาติ ได้มาตอบแทนสังคมในด้านต่างๆ จากที่ฐานะทางบ้านค่อนข้างจะยากจน ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นอกจากนี้โครงการทุนยังมีกิจกรรมหลายอย่างที่พยายามบ่มเพาะเรา นักเรียนทุนเล็กๆ ได้มีพื้นฐานของมนุษย์คือ “คนดี” ผ่านกิจกรรม เช่น มีการเข้าค่าย อบรมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่ง วันนี้เรามีโอกาส ศึกษาเล่าเรียนจนจบแล้ว ก็อยากจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด สมดังที่ตั้งใจไว้ว่าเราจะต้องเรียนจบในระดับอุดมศึกษา และมีอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้ได้
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยสานฝันให้เด็กไทย ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สามารถมีอาชีพที่มั่นคง และกลายเป็นบุคคลต้นแบบในวิชาชีพต่างๆ ในวาระที่ “โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า” เข้าสู่ปีที่ 19 ประกอบกับมี MOU ร่วมทำวิจัยกับ ม.มหิดล จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะช่วยสร้างเส้นทางอาชีพของผู้อยู่ในโครงการได้อีกมากแค่ไหน ไปติดตามดูความคืบหน้าของโครงการทุนฯ ได้ที่ https://www.facebook.com/ThaicityScholarship/