รพ.รามาฯ เผยโฉมหุ่นยนต์ต้นแบบสั่งงานบนคลาวด์ ให้บริการแพทย์-พยาบาลในวิกฤติโควิด-19

ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ MIND CENTER (Medical Innovations Development Center) โดยคณะทำงานกลุ่มซิสเต็มส์ (CISTEMS) ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์, วิศวกรทางด้าน Robo medical engineering และนักวิชาการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทำงานจัดส่ง-ลำเลียงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ควบคุมด้วยระบบ IoT (Internet of Things) สั่งการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระและลดความเสี่ยงของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ทำงานในพื้นที่ติดเชื้อ

โดย รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ์ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะทำงานต้องการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองอย่างเสถียร และสามารถเพิ่มเติมและดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานหลากหลายพื้นที่ จึงออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์อเนกประสงค์ สามารถประยุกต์การใช้งานได้ในหลายรูปแบบ ตามโจทย์ผู้ใช้งาน เพื่อจะช่วยงานเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างานได้ ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ได้

ควบคุมการทำงานด้วยระบบ IoT สั่งการผ่านอินเทอร์เน็ตจากระยะไกล ให้เดินตามเส้นทางที่กำหนด

“หลักการใช้งานของหุ่นยนต์ตัวนี้ จะเป็นตัวช่วยส่งกำลังบำรุง ส่งของ ส่งอาหาร โดยไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เข้าไปเสี่ยงในการติดเชื้อ ต่อมาคือหุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่ telepresence ได้ หรือสนทนาออนไลน์ระหว่างหมอและคนไข้ หรือประชุมออนไลน์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับห้องปฏิบัติการ หรือศูนย์ควบคุมที่มีแพทย์และพยาบาลอยู่ได้ ทำให้เกิด social distancing ลดความเสี่ยงในการที่จะติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญก็คือ เราทลายข้อจำกัดของ PPE หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้ ไม่ว่าจะ N95 ชุดพลาสติก แว่นตา หรือวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น นำไปใช้ในเคสที่จำเป็นจริงๆ ลดการสิ้นเปลือง และตอบโจทย์การทำงานของแพทย์ได้จริง” รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ์ กล่าว
ดร.ดิลก ปืนฮวน อาจารย์โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับหุ่นยนต์ CISTEMS ใช้เวลาพัฒนาที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ประมาณ 10 วัน ทำงานโดยใช้อุปกรณ์ติดตั้งบริเวณใต้โครงสร้างอลูมิเนียม ใช้ล้อวีลแชร์กำหนดทิศทางในการเคลื่อนที่ ออกแบบให้โครงสร้างมีน้ำหนักเบา แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 100 กิโลกรัม

หุ่นยนต์ต้นแบบ พัฒนาโดย MIND CENTER คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

“ด้วยเวลาที่จำกัดและปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถหยิบมาใช้ได้เลย เช่นเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ที่นำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งตอนนี้เราใช้ google hangout ที่สามารถให้หมอกับคนไข้สื่อสารกันได้ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้เลย ส่วนตัวหุ่นยนต์เราควบคุมการทำงานด้วยระบบ IoT (Internet of Things) สั่งการผ่านอินเทอร์เน็ตจากระยะไกล ให้เดินตามเส้นทางที่กำหนด จัดส่งและจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ (Could) คำสั่งพวกนี้ก็จะผ่านระบบคลาวด์ คำสั่งจะมาที่หุ่นยนต์ ทำให้การพัฒนาทำได้รวดเร็ว มีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่แพทย์ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น”

ด้าน นายชวพล ดิเรกวัฒนะ นักวิชาการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า หุ่นยนต์ต้นแบบโดยศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์นี้ แบตเตอรี่สามารถทำงานได้ยาวนาน วิ่งได้ 30 – 40 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และด้วยรูปทรงและโครงสร้างของหุ่นยนต์ทำให้ฆ่าเชื้อได้ง่าย “เราออกแบบมีส่วนโค้งมนน้อยที่สุด มีซอกหลืบน้อยที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยระบบการฆ่าเชื้อของหุ่นยนต์ตัวนี้จะใช้รังสียูวี ซี (UV C) ในการฆ่าเชื้อ ซึ่งหลังจากที่หุ่นยนต์วิ่งเข้าไปในพื้นที่ติดเชื้อแล้วจะทำการฆ่าเชื้อด้วยการอาบรังสีเป็นเวลาไม่เกิน 15 นาที ก่อนจะทำงานครั้งต่อไป

โดยความพร้อมของหุ่นยนต์ตัวต้นแบบ ขณะนี้พร้อมใช้งานแล้วประมาณ 80 – 90% ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่เหลือขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของบุคลากรในแต่ละพื้นที่ เช่น ต้องการแขนกลให้สามารถเปิดประตูได้ ต้องการให้เข้าไปทำความสะอาดได้ ทีมงานจะเพิ่มเติมแอปพลิเคชันหรือประยุกต์คำสั่งป้อนให้กับหุ่นยนต์ได้ โดยต้นทุนของหุ่นยนต์ต้นแบบอยู่ที่ 60,000 บาท ไม่รวมโน้ตบุ๊กหรือแท็บเล็ต


รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ์ กล่าวในตอนท้ายว่า หุ่นยนต์ตัวต้นแบบจะนำไปใช้จริงครั้งแรกในแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมเร่งผลิตเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งาน และขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นที่ประสงค์ใช้งานภายในโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตนมั่นใจว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะพร้อมใช้งานและตอบโจทย์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังมีความเสี่ยง ทั้งการติดเชื้อเองและข้อจำกัดของการใช้ PPE ที่จะมีจำนวนจำกัด โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี https://med.mahidol.ac.th/mind/ เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/mindcenter.rama/ หรือไลน์ : @MIND