รพ.ธรรมศาสตร์ฯ นำ AI ช่วยตรวจป้องกัน “การระบาดโควิด-19 รอบสอง”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 ทั่วโลก ยังรอคอยความหวังจาก “วัคซีน” และ “ยารักษาโรค” หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาวัคซีน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้เร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนโดยคนไทย และมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอาจจะต้อง รอถึง 1 ปีกว่า

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอนเมื่อการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลานานนับปี แต่หากมองมาที่ความร่วมมือของคนไทย ที่พร้อมใจกันให้ความร่วมมือในการหยุดโรคโควิด-19 ขณะนี้ มีสัญญาณที่ดี พบยอดผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ไม่เกิน 5 คนต่อวัน และกำลังจะเปลี่ยนจากการผ่อนปรนระยะที่ 2 สู่ระยะที่ 3

สังคมและเศรษฐกิจเริ่มเดินหน้า มีการเปิดสถานที่ต่าง ๆ ให้ผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตกันแบบ “New Normal” ตัวเลข 0 รายก็ยังไม่ใช่ 0 อย่างเต็มที่ เพราะหากว่าคนไทยการ์ดตกก็เสี่ยงระบาดได้อีกครั้ง

“รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กับ “นสพ.ประชาชาติธุรกิจ” พร้อมกับอัปเดตสถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ที่พร้อมจะรับมือหากว่ามีการระบาดอีกรอบ

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม กล่าวว่า การที่กลับมาเปิดเมือง ก็ยอมรับได้ถ้าเกิดมีผู้ติดเชื้อในปริมาณไม่มากและน้อยต่อวันไปเรื่อย ๆ ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยที่เตรียมรองรับไว้คงจะสามารถรองรับผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยหนัก

“หลังจากที่เราเปิดเมืองแล้ว การระบาดอย่างรุนแรงเป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็น เพราะว่าการแพทย์และสาธารณสุข จะไม่สามารถรองรับโดยเฉพาะในผู้ป่วยหนักซึ่งจะมีประมาณ 5% หรือประมาณ 500 คน ซึ่งทั่วประเทศมีเตียง ICU หรือว่าเตียงที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 400-500 เตียง หากมีผู้ป่วยหลักหมื่นคนต่อการระบาด 1 ครั้ง ก็อาจจะทำให้เป็นภาระหนักและทำให้ดูแลผู้ป่วยไม่ทั่วถึง แต่ถ้าการระบาดเป็นคลื่นลูกเล็ก ๆ สูงสุดต่อวันไม่เกินประมาณ 100 คน มั่นใจว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถที่จะรองรับผู้ป่วยหนักได้ โดยวันหนึ่งอาจจะมีประมาณ 5-10 คน ส่วนสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้น คือการมีผู้ติดเชื้อน้อยมาก มีการคิดค้นยารักษาหรือวัคซีนขึ้นมา คงจะต้องใช้เวลาปีครึ่งถึง 2 ปี”

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รศ.นพ.พฤหัส ได้มองว่าไทยมีบทเรียนจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่มีอาการจนถึงกลุ่มที่รุนแรง อย่าง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ นอกเหนือจากการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Real Time RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำแล้ว ระหว่างรอ RT-PCR ซึ่งใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง ได้ใช้ AI เข้ามาช่วยแปลผลภาพรังสีทรวงอก โดยเป็นเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ระบบดิจิตอล FDR Nano ที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบ AI-CAD ส่งผ่านสัญญาณระบบ 4G มาช่วยวิเคราะห์-ประเมินคัดกรองผู้ป่วย

ถือเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นสูงสุดตัวหนึ่งในการตรวจรักษาโควิด-19 ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพเอกซเรย์ของปอดของผู้ป่วยผ่านจอมอนิเตอร์ หาร่องรอยโรค หรือความผิดปกติของโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ดูภาพรังสียังไม่เคยเจอมาก่อน ปกติภาพที่ถ่ายเสร็จจะต้องส่งไปให้รังสีแพทย์อ่านซึ่งอาจจะใช้เวลาและมีในเรื่องของความผิดพลาดได้บ้างจากระยะทางหรือความไม่ชัดของภาพ เพราะฉะนั้นการใช้ AI ช่วยเราอย่างมาก สามารถดูแลผู้ป่วยได้ในที่เดียว ถ่ายเสร็จ AI จะประมวลผลโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็สามารถที่จะบอกได้ว่า ปอดมีความปกติหรือไม่ทำให้มีความมั่นใจและดูแลผู้ป่วยในขั้นตอนต่อไปได้เร็วขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอการ RT-PCR ซึ่งหากมี 1 เครื่อง ก็น่าจะเพียงพอที่จะดูแลวินิจฉัยในกรณีที่อาจมีผู้ป่วยโควิด-19 ต่อวันที่ 30-40 คนได้”

AI กับการถ่ายภาพรังสี มีส่วนช่วยอย่างมาก จากที่ระยะแรกสนใจอยู่ที่โรคโควิด-19 และไว้ที่คลินิกโรคอุบัติใหม่ (EID Clinic) ปัจจุบันยังได้นำเครื่องดังกล่าวไปใช้กับโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ตรวจก้อนเนื้อในปอด การติดเชื้ออื่น ๆ บริเวณหน้าอก ความผิดปกติของหัวใจ เนื่องด้วยในตัวโปรแกรมสามารถอ่านความผิดปกติเหล่านี้ได้

วันนี้คนไทยทุกคนยังต้องเผชิญหน้ากับโรคนี้กันต่อ และถึงจะมีบทเรียนจากรอบแรกไปแล้ว สิ่งที่จะช่วยเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และการสาธารณสุข ไปพร้อมกัน คือการ “สวมหน้ากาก” “ล้างมือ” และ “เว้นระยะห่าง (Social Distancing)”

“จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ทำให้เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเรื่องของการดูแลประชาชนทุกคน ในประเทศไทยพร้อมกัน” รศ.นพ.พฤหัส กล่าวทิ้งท้าย