“บีจีซี” เผยกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว มุ่งสู่ “โทเทิล แพคเกจจิ้ง โซลูชั่น”

“บีจีซี” เผยกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว มุ่งสู่ “โทเทิล แพคเกจจิ้ง โซลูชั่น” ขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เน้น Sustainability รอบด้าน

‘ประชาชาติธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี ในเครือบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ซึ่งครองส่วนแบ่งอุตสาหกรรมขวดแก้วเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เสริมพอร์ตด้วยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจในปัจจุบันของบีจีซี ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 และ 2 เป็นอย่างไร
กลุ่มธุรกิจหลักๆ ในปัจจุบันของบีจีซีเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีธุรกิจซื้อขายเศษแก้ว ธุรกิจรีสอร์ทและสัมมนา

ปี 2563 นับเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 บริษัทเติบโตประมาณ 5-6% ช่วงนั้นคาดการณ์กันไว้ว่าหลังปิดไตรมาสน่าจะเติบโตได้ 7-8% แต่เมื่อโควิด-19 เข้าเมืองไทยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขก็เริ่มนิ่ง จนถึงปลายไตรมาส 1 ตัวเลขจากที่โตก็กลับกลายเป็นตก แต่เมื่อหักกลบลบหนี้แล้ว ถือว่ายังสามารถทำได้ดี สรุปว่าไตรมาส 1 ในแง่ของการเติบโตแบบ Organic Growth บริษัทโตประมาณ 0.1% แต่ถ้าเป็นรายรับโดยรวมจะเติบโตประมาณ 4% คิดเป็นมูลค่ารวม 3,016 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ประเทศเวียดนาม

พอถึงไตรมาส 2 บริษัทได้รับได้รับอิมแพคเต็มๆ ตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม เนื่องจากมีลูกค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ประมาณ 30-40% ของยอดขายทั้งหมด หลังจากรัฐบาลออกมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากความร่วมมือของหลายฝ่าย มีการแก้ไขได้รวดเร็วกว่าที่คิดไว้ จากที่เคยประเมินว่าไตรมาส 2 น่าจะติดลบ 30-40% จึงไม่เป็นไปขนาดนั้น

เราคาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะกลับมาดี เฉพาะธุรกิจแพคเกจจิ้งอย่างเดียวคาดหวังว่าทั้งปีน่าจะทำยอดขายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วถ้าไม่มีเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบอีก นอกจากนี้ก็ยังมีธุรกิจพลังงานในเวียดนามที่คาดจะส่งผลดีในด้านรายรับ

ดังนั้นในแง่ของผลกำไรประเมินว่าอัตรากำไรจะไม่ตก การเติบโตจะดีกว่ายอดขาย ซึ่งธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม เป็นธุรกิจที่อัตรากำไรดีกว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ในแง่ของตัวเลขกำไร Bottom Line เติบโตมากกว่ายอดขาย

ทิศทางธุรกิจที่วางแผนไว้ในครึ่งปีหลัง

เนื่องจากธุรกิจหลักของบริษัทคือบรรจุภัณฑ์แก้ว จึงยังมุ่งเน้นในเรื่องของการรีคัฟเวอร์ยอดขาย นอกจากการบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าภายหลังจากการปลดล็อกมาตรการต่างๆ แล้ว ยังต้องมองหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างเจรจาการควบรวมและการซื้อกิจการ (M & A) ประมาณ 2-3 ดีล อย่างที่เรากล่าวไว้เสมอว่า จะมีการมองหาพาร์ทเนอร์หรือร่วมทุนกับกิจการอื่นๆ ซึ่งก็มีการพูดคุยทั้งในมุมของธุรกิจพลังงานและธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ

เหตุผลที่สนใจธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ นั้น เนื่องจากบีจีซีมีบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเป็นหลัก ส่วนบริษัทในเครือบีจีก็มีบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ได้แก่ กระดาษคราฟท์ ฉลากฟิล์ม ฝาพลาสติก กล่องกระดาษลูกฟูก ฯลฯ จากความเชี่ยวชาญและความชำนาญของบริษัทในเครือ จึงคิดว่าสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ได้ นอกจากนี้ก็ยังต้องการเพิ่มความหลากหลายเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้มากกว่าขวดแก้ว เป็น ‘Total Packaging Solution’ ฝ่ายขายสามารถออฟเฟอร์ลูกค้าได้ตั้งแต่ขวดแก้วเปล่าๆ จนถึงแร็ปขวด หรือถ้าต้องการบรรจุในกล่องกระดาษก็มีจำหน่ายด้วยเช่นกัน เป็นการรองรับความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมและครบวงจรยิ่งขึ้น

และอีกอุตสาหกรรมที่มีแผนจะทำ M & A เพิ่ม ก็คือพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ใน 3 ประเทศหลักๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน ปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มธุรกิจด้านนี้เข้ามาในพอร์ตฟอลิโอพร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ปีละ 100 เมกะวัตต์

ย้อนถามว่าบีจีซีทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมานานจนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เหตุใดจึงสนใจลงทุนธุรกิจพลังงาน

เนื่องจากลักษณะของการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถนำมาซ้อนทับกันเหมือนกระดาษ รวมทั้งโรงงานผลิตก็ต้องใช้พื้นที่เยอะ เคยคำนวณกันว่าอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วใช้พื้นที่คิดเป็นจำนวนไร่มากกว่าอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษถึง 5 เท่าในขณะที่ยอดขายใกล้เคียงกัน

เมื่อหลังคามีขนาดใหญ่บวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานคลังสินค้าเมื่อ 10 ปีที่แล้วซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้มาก

ภายหลังจากที่ทำมาเป็นเวลาถึง 10 ปียังเกิดเป็นความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ จากที่จ้างบริษัทอื่นมาดำเนินการติดตั้ง ก็มีทีมงานของบีจีซีที่สามารถติดตั้งได้เองและเพิ่มความชำนาญขึ้นเรื่อยๆ สามารถคำนวณต้นทุนในการติดตั้งได้ เรียกว่าเป็น Next Step ที่ทำให้บริษัทมีความสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานในรูปแบบของการร่วมทุนและซื้อกิจการ ซึ่งในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้าอาจมีการปรับแผนเป็นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเอง

มีการวางกลยุทธ์เกี่ยวกับลูกค้าอย่างไร

เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราจึงเดินหน้าขยายธุรกิจผ่านกลยุทธ์การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นการให้บริการใน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์, คุณภาพระดับสากล, การให้คำปรึกษากับลูกค้าในทุกโอกาส, การจัดเก็บและการจัดส่งสินค้าควบคู่ไปกับการพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพรอบด้าน เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร รวมถึงมุ่งขยายฐานการส่งออกให้กับลูกค้าที่มีอัตรากำไรดี เช่น กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาแพง กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยา เป็นต้น

เป้าหมายทางธุรกิจในอีก 5-10 ปี

บีจีซีวางเป้าหมายไว้ว่าจะยังคงเติบโตใน 2 ธุรกิจหลัก ก็คือ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ในส่วนของธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วก็จะสร้างความแข็งแกร่งด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อมุ่งสู่ ‘Total Packaging Solution’ สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีการตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 300-400 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี

นอกจากนี้ เรายังต้องการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว