เราทำขายแค่พอให้เราอยู่ได้ หลังจากนั้น คือ การแบ่งปันความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย

เพราะคนป่วยมีค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาอยู่แล้ว
เราจะสอนให้เขาทำอาหารทานเองเพื่อความประหยัด

จากมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร
แต่เมื่อถึงวันต้องกลับบ้านเพื่อดูแลพ่อที่ป่วย และต้องควบคุมอาหาร
“ก้อย-ชญาดา ศรีมานิตรากูล” เริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่าง
ทั้งเรื่องการทำอาหารปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
เรื่องแหล่งที่มาของอาหารที่ต้องเป็นอินทรีย์ทั้งหมด

“การเรียนรู้” ที่ทำให้ค้นพบ “คนกลับบ้าน” ที่มีความคิดเหมือนกัน
“คนกลับบ้าน” ที่อยากจะกลับมาทำเกษตรปลอดสาร
เพื่อให้คน จ.ลำปาง บ้านเกิด ได้กินดีอยู่ดี
จนเกิดเป็นเครือข่ายเล็กๆ ที่ผลิตอาหารปลอดภัย
เครือข่ายเล็กๆ ที่ค่อยๆเข้มแข็ง และเติบโตไปพร้อมๆกัน

จาก “อาหารคลีน” จานแรกที่ทำให้คุณพ่อทาน
ผ่านมา 6 ปี “ก้อย-ชญาดา” ยังทำตามความตั้งใจเดิม คือ ดูแลครอบครัวให้กินดีอยู่ดี
แต่ที่งอกงามมากกว่านั้น คือ ความคิดที่อยากจะให้คน จ.ลำปาง ได้กินอาหารปลอดภัย
“ทานคลีน ลำปาง” ของ “ก้อย-ชญาดา ศรีมานิตรากูล” จึงไม่เพียงแค่ขาย
แต่ยังแบ่งปันความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำอาหารปลอดภัยทานเองได้

“ถึงแม้ว่ารายได้จะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราขายแค่พออยู่ได้ แค่นั้นก็พอแล้ว”