รมว.จุติ ลุยออก “โซเชี่ยล บอนด์” ระดมทุนทำโครงการเพื่อสังคม ให้การเคหะแห่งชาติช่วยคนไม่มีบ้านให้มีบ้านเร็วขึ้น

ความคืบหน้าล่าสุดของการออก “พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม” หรือ Social Bond ของการเคหะแห่งชาติ ภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี กล่าวว่า การเคหะฯ อยู่ระหว่างการออกพันธบัตรในรูปแบบของ “Social Bond” ครั้งแรก เพื่อจำหน่ายนักลงทุน แทนการของบประมาณรัฐบาล และจัดระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการที่อยู่อิสำหรับผู้มีรายได้น้อย

โซเชี่ยล บอนด์ เป็นการระดมทุนวิธีหนึ่งด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อนำเงินมาทำโครงการเฉพาะเพื่อกิจกรรมทางสังคม ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ กคช. ที่เน้นสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า โซเชี่ยล บอนด์ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางด้านการเงินที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะออกตราสารหนี้อย่างไร และนำมาใช้กับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใด เช่น โครงการบ้านผู้สูงอายุ 4 มุมเมือง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยและมีแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน เนื่องจาก โซเชี่ยล บอนด์สามารถระดมทุนทำโครงการเพื่อสังคม หรือระดมทุนเพื่อการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชน

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุน จะทำให้การเคหะแห่งชาติ สามารถสร้างบ้านราคาถูกให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และผู้สูงอายุได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้น

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีแผนระดมทุนผ่านการออกโซเชี่ยล บอนด์ ของ กคช. เป็นครั้งแรกภายในเดือนกันยายน 2563 วงเงินไม่เกิน 6,800 ล้านบาท อายุ 5-15 ปี กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางวิชาการแบบให้เปล่าจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

การออกโซเชี่ยล บอนด์ ของ กคช. ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลภายใต้ โซเชี่ยล บอนด์ พรินซิเพิลส์ 2020 ของสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ (InternationalCapital Market Association: ICMA) และอาเซียน โซเชี่ยล บอนด์ สแตนดาร์ดส์ โดยมี ADB สนับสนุนการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อสังคม โดยนักลงทุนและคู่ค้าสามารถติดตามแผนการออกโซเชี่ยล บอนด์ ได้จากเว็ปไซต์ สบน.(www.pdmo.go.th) และรายละเอียดโซเชี่ยล บอนด์ เฟรมเวิร์ค ฉบับสมบูรณ์ได้จากเว็ปไซต์ กคช. (www.nha.co.th)