พิษเทรดวอร์! Google-Microsoft เตรียมหนีจีนมาเวียดนามและไทย

อุตสาหกรรมสนับสนุน บุคลากร และเทคโนโลยีขั้นสูง จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกลงทุนของบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งผลจากเทรดวอร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนขนาดใหญ่ โดยมีไทยและเวียดนามเป็นพื้นที่เป้าหมาย

#FID #การย้ายฐานผลิต #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

ผมพวงจากความขัดแย้งที่ต่อเนื่องและรุนแรงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่าน โดยเฉพาะกรณีการจุดชนวน ‘สงครามการค้า’ โดยใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของทั้งสองประเทศ ตลอดจนมาตรการในการคุกคามบริษัทเอกชนของทั้งสองชาติ นับเป็นชนวนสำคัญในการที่ทั้งบริษัทจีนและสหรัฐฯ ต่างหมายตาพื้นที่ลงทุนใหม่ หรือหลุมหลบภัยสงครามการค้า ที่แม้มีความเป็นไปได้ว่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นี้ ซึ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การเมืองมีโอกาสเปลี่ยนขั้ว แต่เรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า แม้การเมืองเปลี่ยนแต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจไม่เปลี่ยน

ด้วยเหตุนี้ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาปรากฏข่าวเกี่ยวกับการย้ายฐานผลิตของบริษัทด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา เช่น Google และ Microsoft ออกจากจีนมายังเวียดนามและประเทศไทย โดย Google และ Microsoft มีแผนจะย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ รวมถึงห่วงโซ่การผลิตจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยสถานการณ์สงครามการค้าจีน–สหรัฐอเมริกา และการแพร่ระบาดของ COVID-19

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme

โดยคาดว่าไทยและเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่ง Microsoft และ Google คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตคอมพิวเตอร์พกพารุ่น Surface และโทรศัพท์รุ่น Pixel 4/5 ในจังหวัดทางภาคเหนือของเวียดนามได้เร็วที่สุด ภายในไตรมาสที่ 2 และครึ่งหลังของปี 2563 ตามลําดับ

ด้าน Google ได้เริ่มแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนตั้งแต่ปี 2562 โดยสั่งการให้บริษัทคู่ค้าในเวียดนามปรับรูปแบบโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือเดิมของ Nokia ในจังหวัดบักนิงห์ และโรงงานผลิตมือถือในจังหวัดหวิงฟุก ทางภาคเหนือของเวียดนาม เพื่อเตรียมผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่น Pixel ดังกล่าว

รวมทั้ง Intel Products Vietnam (IPv) ภายใต้บริษัท Intel ได้ประกาศระหว่างการประชุม HCMC-U.S.Business Summit (ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐอเมริกา) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ว่ามีแผนจะขยายกําลังการผลิตชิปในนครโฮจิมินห์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนตั้งสายการผลิตชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใน SHTP นครโฮจิมินห์ ตั้งแต่ปี 2553 มูลค่าการลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 5,000 คน และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ บริษัท Microsoft ได้จัดตั้ง Microsoft Innovation Center (SMIC) บริเวณ Saigon High-Tech Park (SHTP) นครโฮจิมินห์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 มีบทบาทในการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงทําการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและวางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการจัดการอบรมแก่คนในท้องถิ่น และเป็นที่ปรึกษาสําหรับโครงการด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนานครด้วย อนึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท Foxconn ผู้ผลิตหูฟังไร้สาย AirPods ให้กับบริษัท Apple ก็ได้ย้ายฐานผลิตออกจากจีนมายังเวียดนาม (จังหวัดบิ๊กซาง) เช่นกัน โดยตั้งเป้าผลิตหูฟัง AirPods 4 ล้านชิ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตหูฟังดังกล่าวของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการย้ายถิ่นการผลิตออกจากจีน แต่ยังประสบความท้าทายสําคัญหลายประการ อาทิ อุตสาหกรรมสนับสนุนและทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีไม่เพียงพอ ทําให้เวียดนามต้องพึ่งพาการนําเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม เป็นต้น จึงทําให้หลายฝ่ายกังวลว่าในระยะยาวเวียดนามจะติด FDI Trap ที่ดึงดูดได้เพียงอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำหรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางเท่านั้น

ขณะที่ในปี 2563 รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผนการพัฒนาของนครโฮจิมินห์ในการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมด้านตะวันออกของนคร (The Duc City) ซึ่งรวมพื้นที่สามเขตหลักกว่า 211 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1.1 ล้านคน โดยตั้งเป้าเป็นเมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางทางการเงิน การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศูนย์กลางการบ่มเพาะธุรกิจ Startups ของภูมิภาคในลักษณะเดียวกับ Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังมองว่าหนึ่งในความท้าทายสําคัญ เนื่องจากนครโฮจิมินห์ยังขาดความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง (home grown) แต่เป็นลักษณะการดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากจุดเริ่มของ Silicon Valley

สำหรับบริบทด้านการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการ EEC คือเป้าหมายพื้นที่ลงทุนหลักจากต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สำคัญมีความเพียบพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ดังนั้นโอกาสที่ทุนต่างชาติจะมุ่งมาปักธงมาลงทุนใน EEC ของไทยจึงมีมากเช่นกัน ไม่เพียงเฉพาะแค่บริษัทจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งไทยตั้งเป้าเป็นฐานการลงทุนที่ให้ความสำคัญด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้บริบทการลงทุนของไทยและเวียดนามแม้จะดูเหมือนกันแต่จริงๆ แตกต่างกัน

แหล่งอ้างอิง :
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์