GEN Z ดึงวัสดุรีไซเคิลปั้นแฟชั่นรักษ์โลก ในโครงการ RECO Young Designer Competition 2020

“เรื่อง sustainable มันเป็นเทรนด์ของรุ่นใหม่ในระดับหนึ่ง เราแคร์เรื่องโลกมากขึ้น เพราะด้วยสื่อที่บอกทุกวันว่า โลกมันร้อนขึ้นทุกวัน” นโม สัจจะรัตนะโชติ เด็ก GEN Z วัย 18 ปี จาก King’s Ely School ประเทศอังกฤษ หนึ่งในผู้เข้ารอบ 11 ทีมสุดท้ายในโครงการ RECO Young Designer Competition 2020 โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส บอกเล่าแรงบันดาลใจแนวรีไซเคิลของตัวเอง “จริงๆ แล้วเริ่มมาจากหนังเรื่อง ‘2012’ เป็นหนังที่ดูแล้วทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมนุษย์ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ จนธรรมชาติมันพัง รู้สึกว่าอยากตอบแทนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้อะไรกับโลกมาเยอะ เลยคิดเป็นคอนเซ็ปต์ว่า เราจะทำอย่างไรไม่เพิ่มขยะในการทำงานชิ้นนี้”
นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่นับวันโครงการ RECO Young Designer Competition จะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมแข่งขันในการดีไซน์แฟชั่นที่นำเอาวัสดุรีไซเคิล อย่างเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล โดยเฉพาะผ้าที่ทอจากเส้นด้ายรีไซเคิลจากขวด PET มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานแบบ Sustainable Fashion กับเรา โดยในปีที่ 9 นี้เรามีโจทย์ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘REVIVE: Start from the Street’ ซึ่งยังคงแนวคิดหลักมาจาก 3R คือ Reduce – ลดการใช้, Reuse – ใช้ซ้ำ และ Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ของที่คนอาจมองว่าเป็นขยะกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งพลิกมุมมองให้คนตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุมากยิ่งขึ้น ว่ายังเอามาต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ที่เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าเพิ่มได้ในชีวิตจริง”
“การรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” นวีนสุดาเล่าให้ฟังว่า “ในแต่ละปี อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้นำขวดพลาสติก PET ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลในปริมาณมากถึง 3.3 แสนตันต่อปี เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกายทั้งในและต่างประเทศ เป็นสิ่งที่เราอยากสร้างความตระหนักในสังคมวงกว้างว่า ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ได้เป็นขยะ ถ้าคุณมองเห็นคุณค่าของ ‘การรีไซเคิล’ หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มันจะสามารถสร้างรายได้ และยังสามารถลดของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย และนั่นก็เป็นแนวคิดและที่มาของ โครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer Competition”

โดยผลงานโดดเด่นที่ผ่านเข้ารอบ 11 ทีมสุดท้าย อาทิ ผลงาน “Revive” ของวรเมธ มอญถนอม ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และธนกร ศรีทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เล่าคอนเซ็ปต์ Revive ว่า “เหมือนการชุบชีวิต ทำให้นึกถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากฤดูที่หนาวที่เหมือนตายแล้วกลับกลายเป็นฤดูใบไม้ผลิที่กำลังเบ่งบานขึ้นมา สิ่งที่กำลังฟื้นฟูขึ้นมา เปรียบระหว่างเรื่องราวของความตายกับเรื่องราวของการเกิดใหม่ เราจึงเอาวัสดุมา revive เหมือนกัน ผมเลือกใช้เทคนิคที่นำวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น วัสดุ PET ต่างๆ เอามาต่อยอดเป็นเป็นงานศิลปะ 1 ชิ้น โดยนำมาทำเป็นลายพิมพ์ขยะที่สื่อความหมายลึกซึ้ง โดยการใช้เทคนิคการนำไปรีดกาวให้เกิดความรอยย่นระยะให้มันเป็น texture ขึ้นมาอีก 1 ชั้น มันอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบบ้างในตัวชุด เพื่อให้เกิดอรรถรส คำนึงถึงการใช้วัสดุที่ไม่ต้องทิ้ง ในส่วนของการปักจะเลือกใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ไม่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลสัตว์ สำหรับผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากขวด PET นั้น ตัวผ้าติดสีได้อย่างที่ใจต้องการเลย ชุดที่เราทำสามารถปรับเปลี่ยนไปเอาไปใช้ในการทำงานได้จริง 100% และผมก็ยังทำงานที่คำนึงถึงความสามารถในการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้”

ด้าน สาริน เสาวภาคย์ประยูร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เปิดประเด็นว่า “คอนเซ็ปต์ดีไซน์มาจากละครโน (หนึ่งในศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่น) ซึ่งจะมีการละเล่นทั้งแบบที่เงียบสงบ ให้จิตใจผ่อนคลาย กับแบบตลกขบขัน หนูเลยนำมาจากพวกกิโมโนที่เขาใส่เล่นละคร แล้วนำความใหม่เข้ามาผสมผสานด้วยสิ่งที่ทำให้ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยเราเอาวัสดุที่ไม่ใช่งานแล้วจากรถมือสอง เช่น สายเข็มขัดนิรภัย ผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ รวมถึงวัสดุที่ผลิตจาก PET มาใช้งาน คือ ลองเอามาตัด ดึง ทำให้เป็นเส้นๆ ส่วนที่สองคือ ผ้าโพลีเอสเตอร์ที่รีไซเคิลจากขวด PET ซึ่งได้รับจากอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเมื่อนำมาพิมพ์ลายก็ติดได้ง่าย แน่นอนว่าผลงานออกแบบนี้อาจไม่เหมือนชุดธรรมดาที่มีขายอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ มันทำขึ้นมาจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเส้นใยที่มาจากการรีไซเคิลไม่ได้แตกต่างกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ทั่วไปเลย อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติมาก”

ตบท้ายด้วยผลงาน “Passionate” จากฝีมือของสรวุฒิ โภคัง ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ “ผมใช้ฟิล์มกล้องถ่ายรูปที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นของที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร นำมาเล่นกับแสงเงาแล้วดัดแปลงเป็นเทคนิคภาพต่างๆ ออกแบบเป็นชุดที่สามารถสวมใส่ได้ เป็น ready to wear พอได้มาทำงานจริงในฐานะคนผลิต มันไม่ยากเลยที่จะเอาวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าให้คนใส่ได้ทั่วไป”

“เอาจริงนะ” สรวุฒิ เล่าต่อ “ตอนที่เห็นผ้าที่บอกว่ามาจากการรีไซเคิล เราไม่รู้เลยว่าขวด PET มันสามารถนำมาทำเป็นผ้าผืนใหม่ได้ขนาดนี้ แต่พอเริ่มต้นทำงานจริง ได้รับความรู้ตอนเวิร์คช็อปและคำแนะนำจากอาจารย์ ก็พบว่าสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีคุณค่าได้ ดังนั้น Sustainable Fashion ต้องเริ่มจากตัวเราที่เป็นดีไซเนอร์เองด้วย ว่าจะสามารถแปลงวัสดุให้มีมูลค่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืนได้อย่างไร”


ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่าการประกวดนี้จะสามารถจุดประกายความฝัน เปิดประสบการณ์ ปลูกฝังแนวคิด Sustainable Fashion รวมทั้งช่วยสนับสนุนพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานรักษ์โลก และสามารถนำผลงานมา REVIVE ให้แฟชั่นรีไซเคิลได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง