“ศิริราช” ชวนคนไทยสั่งจองเหรียญที่ระลึก ร.9 ในพิธีเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

โรงพยาบาลศิริราช ถือโอกาสวันครบรอบ 133 ปี พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ในวันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นฤกษ์ดีเปิดใช้ “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกระดับชั้นเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ และผลักดันบุคลากรทางการแพทย์สู่ความเป็นเลิศ ต่อยอดความรู้ทางการแพทย์มีอย่างไม่สิ้นสุด

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ย้อนถึงความเป็นมาของอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาว่า เนื่องจากจำนวนผู้ที่มารับบริการรักษาที่รพ.ศิริราช เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปีละ 5% โดยจากข้อมูลระบุว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาที่ศิริราชปีละ 3,500,000 ราย และผู้ป่วยในปีละ 84,000 ราย ซึ่งสวนทางกับระบบสาธารณูปโภคที่ให้บริการ ประกอบกับอาคารต่างๆ ภายในโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัดและมีอายุเฉลี่ย 50 ปี การสัญจรภายในโรงพยาบาลไม่คล่องตัว เกิดปัญหาความแออัดและไม่เป็นระเบียบ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงมีโครงการจัดสร้างอาคารใหม่ทดแทนอาคารเก่า 3 หลัง ประกอบด้วย ตึกหริศจันทร์-ปาวา, ตึกผะอบ นพ.สุภัทราระเบียบ และตึกเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อนำพื้นที่มาสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตก่อสร้างอาคาร 25 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” ซึ่งมีความหมายว่า อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

2564-02-23_รับมอบเงิน ณ ศิริราชมูลนิธิ Photo by Thipprapa Sookruen

การก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เปิดระดมทุนในปี 2557 เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน 2564 งบประมาณในการก่อสร้างเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2,000 ล้านบาท และเงินจากการระดมทุนโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคสมทบทุนรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารได้ในระยะแรก โดยในระยะที่สอง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ระดมทุนเพื่อซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท และจัดสรรทุนส่วนหนึ่งจากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นกองทุนเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยยากไร้

รศ.นพ.นริศ อธิบายเพิ่มเติมว่า อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,500 ตารางเมตร เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ป้องกัน จิตเวชศาสตร์ และออร์โธปิดิกส์ ซึ่งย้ายจากตึกอัษฎางค์มาทั้งหมด และยังมีศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ มากมาย อาทิ ศูนย์รักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา มีเครื่องฉายรังสีรักษาที่ทันสมัยทั้งหมด 5 เครื่อง จากเดิมมี 3 เครื่อง ซึ่งไม่เพียงพอ และผู้ป่วยต้องรอคิวการรักษาเป็นเวลานาน อาคารหลังนี้จะมีห้องไอซียู (ICU) เพิ่มขึ้น 62 ห้อง จากเดิมมีเพียง 30 ห้อง ทำให้โอกาสการรองรับและรักษาคนไข้เป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น

“เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเต็มศักยภาพแล้ว มีการประเมินไว้ว่า หนึ่งปีจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200,000 รายต่อปี และอาจรองรับได้มากถึง 400,000 รายต่อปี จากจำนวนเดิม 3,500,000 ราย และรองรับจำนวนผู้ป่วยในประมาณ 18,000 รายต่อปี จากจำนวน 84,000 ราย นับเป็นการเพิ่มคุณภาพการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“อาคารหลังนี้เปรียบเสมือนพระราชมรดกสำคัญที่มอบให้กับประชาชนคนไทยผ่านการแพทย์การสาธารณสุข โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้น้อมนำพระราชประสงค์มาปฏิบัติและจะทำการดูแลคนไทยอย่างดีที่สุด ซึ่งนอกจากอาคารหลังนี้จะเป็นที่รักษาผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยภายในตัวอาคารทุกชั้นจะติดตั้งผลงานศิลปะจากศิลปินระดับชาติมากมาย ทั้งภาพจิตรกรรม และประติมากรรมที่ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น” รศ.นพ.นริศ กล่าว

ที่ผ่านมาการระดมทุนโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสองระยะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ดำเนินการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ขณะนี้อาคารดังกล่าว ใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ และมีครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพียงพอต่อการให้บริการ โดยมีกำหนดการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 เมษายน 2564

รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกองทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ยังได้เปิดกว้างการใช้ประโยชน์มากขึ้น ไม่เพียงแต่การจัดสร้างอาคารหรือจัดซื้อครุภัณฑ์ แต่ยังขยายไปยังการดูแลผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่สามารถดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ นับเป็นการวางรากฐานการดูแลผู้ป่วยสามัญอย่างครบวงจร

ดังนั้น เพื่อเติมเต็มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และเป็นกองทุนสำหรับผู้ป่วยยากไร้ อันจะส่งผลให้ผู้มารับบริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันช่วยเหลือแบ่งปันทุนทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย เพื่อให้อาคารหลังนี้ได้ให้บริการได้อย่างเต็มศักยภาพ และการบริจาคนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งผ่านความปรารถนาดีไปยังผู้ป่วยยากไร้ในอนาคต

และในโอกาสที่เป็นมงคล ในพิธีเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา อย่างเป็นทางการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำเหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย เหรียญ 6 แบบ ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ด้านหลังของเหรียญเป็นภาพอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของ รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อการจัดสร้างอาคารหลังนี้

เหรียญที่ระลึก ทั้งหมด 6 แบบ ประกอบด้วย

– เหรียญทองคำ (ทองบริสุทธิ์ 96.5%) ขนาด 3 ซม. (999 เหรียญ) ราคา 199,999 บาท

– เหรียญเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ (เงินบริสุทธิ์ 95%) ขนาด 3 ซม. ราคา 2,999 บาท

– เหรียญเงินธรรมดา (เงินบริสุทธิ์ 95%) ขนาด 3 ซม. ราคา 2,499 บาท

– เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ ขนาด 3 ซม. ราคา 499 บาท

– เหรียญทองแดงธรรมดา ขนาด 3 ซม. ราคา 199 บาท

– เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ ขนาด 7 ซม. ราคา 3,499 บาท

โดยรายได้จากการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่าย จะนำไปสมทบกองทุน “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” รพ.ศิริราช เพื่อผู้ป่วยและเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ต่อไป

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคและสั่งจองเหรียญทองคำที่ระลึกฯ สามารถเขียนใบแสดงความจำนงและเลือกหมายเลขกำกับเหรียญ (เลข ๑ ถึง ๙๙๙) โดยดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th/th จากนั้นติดต่องานประชาสัมพันธ์ รพ.ศิริราช เพื่อเลือกหมายเลขกำกับเหรียญ ได้ที่ 0 2419 7646 – 7 ในวันและเวลาราชการ

*** บริจาคเงินเพื่อจองเหรียญที่ระลึกฯ อีก 5 รูปแบบ ที่ศิริราชมูลนิธิ หรือสามารถบริจาคผ่านธนาคารต่าง ๆ ดังนี้

ชื่อบัญชี “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” (D3499)

• ธนาคารกรุงเทพ สาขา รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เลขที่บัญชี 901-7-02699-9

• ธนาคารกรุงไทย สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เลขที่บัญชี 031-0-49552-0

• ธนาคารกสิกรไทย สาขา ศิริราช เลขที่บัญชี 638-2-00888-8

• ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ศิริราช เลขที่บัญชี 016-4-37544-4

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์และกิจการพิเศษ ตึกอำนวยการ ชั้น 1 รพ.ศิริราช โทร. 0 2419 7646 – 7 ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ