สวนมะละกอยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีทำงาน สร้างกำไรให้ชีวิต ทั้งเงินและเวลา

จิรพัฒน์ เลือกกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิดทันทีที่เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ “พ่อแม่ผมอายุเยอะ ผมเลยตั้งเป้าตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ ตั้งแต่ ม.ต้น เลยว่าเรียนจบแล้วยังไงผมก็ต้องกลับมาบ้าน มาดูแลพ่อแม่” พื้นฐานครอบครัวของจิรพัฒน์ไม่ได้เป็นเกษตรกร พ่อแม่รับราชการครูทั้งคู่ แต่เนื่องจากที่บ้านมีที่ดินเป็นสวนยางพาราอยู่แล้ว เขาจึงอยากจะพัฒนาที่ผืนนี้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเนื่องจากยางพารามีราคาไม่แน่นอน เขาจึงเลือกที่จะศึกษาผลไม้ โดยได้เริ่มหาข้อมูลทางการตลาดว่าผลไม้ชนิดใดที่มีผู้รับซื้อจำนวนมาก แล้วก็พบว่ามะละกอฮอลแลนด์เป็นผลไม้ที่มีตลาดรองรับ เขาจึงศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องการปลูก

“การทำเกษตรแบบสมัยก่อนที่ผมเห็นมานานมันเหนื่อยนะ เหมือนลงแรงเยอะกว่าการวางแผน แต่สำหรับผมให้ความสำคัญกับการวางแผน คือ 70% จะเป็นการศึกษาและการวางแผนจากนั้น 30% เป็นการลงมือทำ เวลาศึกษานี่เราก็ต้องดูพื้นที่ของเราว่าเหมาะสมจะปลูกพืชอะไร สภาพอากาศ มีน้ำ มีไฟไหม เราก็เลือกมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเลือกเป็น มะละกอฮอลแลนด์”

จิรพัฒน์ ใช้โซลาร์เซลล์เข้ามาช่วยสูบน้ำขึ้นมาพักในบ่อที่เตรียมไว้ และส่งน้ำเข้าสู่ระบบรดน้ำในแปลง “การใช้โซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดค่าไฟได้ และก็เวลาผมเข้าสวน ผมใช้โดรนในการตรวจสวน คือมะละกอถ้าเกิดต้นมันมีโรค เราสามารถดูได้จากยอด แล้วการที่จะดูจากยอดเนี่ย จะให้ผมไปปีนหรือเดินทั้งแปลงนี่ บ่อย ๆ มันก็ไม่ไหว ผมก็มีโดรนในการตรวจ และเราก็จะเห็นเลยว่า ยอดนี้ โซนนี้ กระจายเชื้อไปในวงกว้างหรือเปล่า ควรจัดการยังไง เราก็วางแผนได้จากการบินโดรน”

“ผมเชื้อว่าการจะไปกู้เงินหรือไปให้ใครช่วยเหลือ มันต้องทำเองก่อน พิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าเราทำได้นะ ซึ่งพอผมทำได้ 30% ของแผน ก็เดินเข้าไปหาธนาคาร เพื่อจะเพิ่มกำลังผลิต ทาง ธ.ก.ส. ก็เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่น่าสนับสนุน เราไม่ได้ทำเล่นๆ เรามีการวางระบบน้ำที่ดี มีการวางแผนเป็นขั้นตอน เราก็ไปนำเสนอธนาคาร เขาก็ยินดีช่วยเหลือเต็มที่”

เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. แล้ว จิรพัฒน์เดินหน้าขยายการปลูกมะละกอเต็มพื้นที่ เขาจึงต้องการตัวช่วยเพิ่ม “ถึงเราวางแผนไว้ดี แต่ว่าเราต้องใช้คนงาน เพราะเราพื้นที่ใหญ่ 100 ไร่ ก็คิดว่าจะบริหารยังไง มันมีอะไรบ้างที่สามารถเช็คได้ว่าคนงานทำตามที่เราสั่งหรือเปล่า ไปดูมามีพวกแอปพลิเคชั่นที่สามารถดูได้ทางมือถือ ตรวจสภาพอากาศ ตรวจวัดความชื้นในดิน ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าคนงานได้รดน้ำตามที่เราบอกหรือเปล่า มันจะวัดได้ว่าปริมาณน้ำฝนตอนนี้ มันจำเป็นต้องรดน้ำไหม ตัวพวกนี้มันตรวจได้เลย”

บัญชา เพชรรัตน์ พนักงานพัฒนาลูกค้า ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคใต้ตอนบน “ธ.ก.ส. มีนโยบายสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรนะครับ และจากการพูดคุยกับน้องจิ พบว่าเขามีความต้องการที่จะใช้ระบบตรวจสอบความชื้น เพื่อจะให้การทำงานของน้องง่ายขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายของธนาคาร เราจึงทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุนให้กับน้องจิ เพื่อที่จะเติมเต็มในโครงการสวนของน้องและก็เพื่อที่จะเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกร ที่มีความต้องการจะเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งผมเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีการเกษตร สามารถที่จะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

หลังจากได้มาเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. แล้ว จิรพัฒน์ บอกว่า ธ.ก.ส. ยังมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับเกษตรกรอยู่เสมอ “ไปอบรมมันก็จะมีความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ก็คือการเป็นผู้แปรรูป จากที่เป็นต้นน้ำ ก็จะมีกลางน้ำกับปลายน้ำ ซึ่งมันก็เป็นความฝันของเกษตรกรอยู่แล้วล่ะ จากที่เป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ประกอบการ เราก็ได้ความรู้ด้านนี้เพิ่มเข้ามา แล้ว ธ.ก.ส. ก็มาดูสวนเรา เขาให้ความสนใจเพราะเราเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่นะ เผื่อผิดพลาดอะไร เขาก็จะช่วยมาเติมเต็มในสิ่งที่เราไม่รู้ด้วย” จิรพัฒน์ กล่าว

“ธ.ก.ส. ตอนแรกที่เข้าไปก็รู้สึกว่า..น่าจะเป็นธนาคารแก่ๆ แต่พอเข้าไปจริงๆ แล้วมันได้ความรู้สึกแบบพี่น้อง เหมือนพี่ดูแลน้อง เขาไม่แก่เหมือนที่เราคิด ด้วยความที่ผมทำเกษตร ก็มีพี่ๆ ธ.ก.ส. มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ และผมก็แฮปปี้ รู้สึกอบอุ่น มีการดูแลจากพี่ๆ ธ.ก.ส. ที่ดี และผมก็จะเป็นน้องที่ดีของพี่ ๆ”