สินค้าคุณภาพ จากธุรกิจเพื่อสังคม ตรา “ดอยตุง”

ผลิตภัณฑ์จากดอยตุง

ความร่วมมือครั้งล่าสุดระหว่างโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ โอนิซึกะ ไทเกอร์ (Onitsuka Tiger) เพื่อผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษ Onitsuka Tiger x DoiTung พร้อมวางจำหน่ายวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นี้สะท้อนปรัชญาธุรกิจเพื่อสังคมของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่มุ่งผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อพัฒนาชุมชนด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ

“เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่ผู้บริหารจนพนักงานทุกคนจำพระราชดำรัสของสมเด็จย่าได้ขึ้นใจ ‘อย่าให้คนซื้อของเราเพราะสงสาร’ และเราก็ยึดมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาโดยตลอด” ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ผลงานอันเป็นรูปธรรมสะท้อนผ่านรางวัลสาขาการออกแบบที่แบรนด์ดอยตุงได้รับมาอย่างต่อเนื่องทั้งระดับประเทศอย่าง Design Excellence ward (DEmark) จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงรางวัลระดับโลกอย่าง Good Design Award (G-Mark) จากองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และ สถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น

“เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดที่เน้นสินค้าคุณภาพสูง ถ้าผลิตภัณฑ์ดอยตุงได้รับการยอมรับจากญี่ปุ่น แสดงว่าสินค้าของเราผ่านมาตรฐานระดับโลก ซึ่งความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ นี้ก็เป็นเรื่องน่าภูมิใจของชาวไทยทุกคนด้วย”

ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายในวงการกาแฟของประเทศญี่ปุ่น โดยหนึ่งในลูกค้ารายแรกๆ ที่สนับสนุนกาแฟของดอยตุงมายาวนานกว่าสิบปี คือ Kaldi Coffee Farm ร้านค้าปลีกชื่อดังที่รวบรวมอาหารและเครื่องดื่มจากทุกมุมโลกและมีสาขาเกือบ 500 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังเปิดคาเฟ่ดอยตุงที่จังหวัดอิราบากิ ในโรงพยาบาลโจโซตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจนขยายสาขาที่สองในอีกสามปีถัดมา ณ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวในจังหวัดเดียวกัน และดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน

“แต่เราก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะเราพัฒนากาแฟตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว คั่วอย่างพิถีพิถันจนถึงกระบวนการหน้าร้าน โดยมีเป้าหมายให้ดอยตุงเป็นหนึ่งในกาแฟสุดยอดของประเทศไทย”

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงจับมือกับ José Yoshiaki Kawashima ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Mi Cafeto ในการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ และขยายตลาดกาแฟดอยตุงให้เป็นที่รู้จักในประเทศญี่ปุ่น นำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ที่ยึดมั่นในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

อาทิ การได้รับคัดเลือกให้เป็นกาแฟสำหรับบริการผู้โดยสารสายการบิน Japan Airlines เที่ยวบินกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น การจำหน่ายเมล็ดกาแฟให้บริษัท Bellsystem24 ผู้ให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ครบวงจรของประเทศญี่ปุ่นเพื่อจัดตั้งร้านกาแฟสำหรับพนักงานกว่าหมื่นคน รวมถึงความร่วมมือกับ MUJI ร้านไลฟ์สไตล์ชื่อดังที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ส่งเมล็ดกาแฟให้ MUJI Café&Meal ในประเทศญี่ปุ่น

จากนั้นค่อยๆ ขยายความร่วมมือมายัง MUJI Thailand ที่ใช้กาแฟสูตรพิเศษจากดอยตุงใน MUJI Coffee Corner 4 สาขาในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนผลิตภัณฑ์หลากหลายของแบรนด์ดอยตุง ทั้งงานหัตถกรรม กาแฟ แมคคาเดเมีย ไม้ประดับ และผัก ผลไม้สดเพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทย

ม.ล. ดิศปนัดดากล่าวว่า ใน พ.ศ. 2565 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะครบรอบ 50 ปี โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ของสังคมมาโดยตลอด

“สิบห้าปีแรก เราใช้ชื่อว่ามูลนิธิส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชาวเขาไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการพึ่งพาป่าและรายได้จากป่า มีการสร้างอาชีพเสริมต่างๆ ทั้งกาแฟ เสื้อผ้า กระดาษสา เซรามิก และการท่องเที่ยว แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทิศทางในอนาคตจึงมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น คือ เกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือกับโอนิซึกะ ไทเกอร์ ในครั้งนี้ เราใช้เส้นใยจากพลาสติกรีไซเคิล และ better cotton เพื่อเน้นย้ำนโยบาย zero waste ขององค์กร”

โอนิซึกะ ไทเกอร์ บริษัทเก่าแก่ที่มีอายุ 72 ปี ก็ยึดมั่นในปรัชญาธุรกิจสังคมเช่นเดียวกัน เพราะก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีเป้าหมายแรกเริ่มในการผลิตรองเท้าเพื่อส่งเสริมกีฬาในหมู่เยาวชนให้เป็นเครื่องมือฟื้นฟูชาติ พัฒนาสินค้าเรื่อยมาจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และมุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ความร่วมมือครั้งล่าสุดกับโอนิซึกะ ไทเกอร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นก้าวใหม่ของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่จับมือกับพันธมิตรระดับโลกที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียน