รมว.เฮ้ง ห่วงใย ลูกจ้างบริษัทน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี ถูกเลิกจ้าง

รมว.เฮ้ง ห่วงใย ลูกจ้างบริษัทน้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี ถูกเลิกจ้าง
สั่งหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ตรวจสอบช่วยเหลือสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใย ลูกจ้างบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัดอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล ถูกเลิกจ้างเนื่องจากผลการประกอบกิจการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมช่วยเหลือตามภารกิจ ให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างให้ ฝึกทักษะทางด้านอาชีพ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์โดยเร็ว

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัทน้ำตาลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี กรณีประกาศปิดตัวหยุดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จึงได้ให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ทำงานเชิงรุก เข้าไปติดตามสาเหตุการประกาศหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วน

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้รับรายงานจากการตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานีว่า บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 73 หมู่ 11 ถนนโพนทอง ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล มีลูกจ้าง จำนวน 280 คน ได้มาขอคำปรึกษาหารือกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานีเกี่ยวกับการปิดบริษัทเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน นายชัยวัธน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทฯ ได้จัดประชุมชี้แจงการสิ้นสุดสัญญาจ้างและปิดกิจการให้กับลูกจ้างทั้งหมดตามโครงการ MIRAI : จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่ โดยแบ่งการชี้แจงออกเป็น 6 จุด ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 สาเหตุการปิดกิจการเนื่องจากผลการประกอบกิจการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี จึงจำเป็นต้องมีการปิดกิจการ และแจ้งสิ้นสุดสัญญาจ้างงานในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยมีเงื่อนไข คือ 1) ลูกจ้างที่แจ้งสมัครใจลาออก ระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน 2564 นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย เงินช่วยพิเศษ เงินช่วยเหลือลาออกของบริษัทตามเงื่อนไข ภายในวันที่ 24-30 มิถุนายน 2564 2) ลูกจ้างที่ไม่สมัครใจลาออก นายจ้างจะเลิกจ้างโดยได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย และจะไม่ได้เงินช่วยเหลือพิเศษ เงินช่วยเหลือลาออกของบริษัท และจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามภารกิจที่เกี่ยวข้องการให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างให้
การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นต้น