กทม.โวเตรียมชูคลองโอ่งอ่างที่ได้รับรางวัลระดับโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่หลังวิกฤตโรคระบาดโควิท

กทม. ส่งเสริมการเที่ยวคลองในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก “ทิ้งรักลงคลอง” และทางเว็บไซต์ www.prbangkok.com แถบเมนู “คลองสวยน้ำใส” รวมถึงแฮชแท็ก #หันหน้าเข้าคลอง ที่เชิญชวนทุกคนให้ติดแฮชแท็กทุกครั้งที่แชร์เรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับคลองในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้การดูแล “คลองสวย น้ำใส” เกิดขึ้นทั่วเมืองหลวง

นอกเหนือจากการดูแลประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอกใหม่อย่างเต็มที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวไปด้วย เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง โดยเฉพาะวาระแห่งชาติของการชูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ให้เป็นหนึ่งในเทรนด์หลักของการพักผ่อนหย่อนใจในเมืองหลวง ซึ่ง กทม. เร่งปรับภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามยิ่งขึ้น โดยคลองแต่ละสายล้วนมีจุดเด่นเป็นของตัวเองที่ตอบสนองตามความสนใจของคนแต่ละกลุ่มได้ และเหล่านี้คือคลองที่อยากให้หลายคนปักหมุดเที่ยวกันไว้ล่วงหน้า คลองระดับแลนด์มาร์กของโลก

ประสบความสำเร็จอย่างงดงามและกลายเป็นต้นแบบของการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองทั่วกรุงเทพฯ สำหรับ “คลองโอ่งอ่าง” ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกจากสภาพแวดล้อมเป็นระเบียบเรียบร้อยและร่มรื่นขึ้นด้วยพื้นที่สีเขียว ยังรวมไว้ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งการเสพศิลปะกับสตรีทอาร์ตที่ทอดยาวตลอดสองฝั่ง ชมวิถีชีวิตของชุมชนริมคลองอันเก่าแก่ ด้านการออกกำลังกายเปิดให้มีการพายเรือคายักและเล่นซับบอร์ด ทั้งยังมีงานเทศกาลและกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องตลอดทั้งปี

เหนือสิ่งอื่นใดคือรางวัลที่การันตีความเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกของคลองสายนี้ นั่นคือ 2020 Asian Townscape Awards จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT) ที่แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางอนุรักษ์และส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน


คลองสายวิถีชุมชน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

“คลองบางกอกน้อย” และ “คลองบางกอกใหญ่” คลองสองสายแห่งย่านธนบุรีที่เชื่อมต่อกันในหลากหลายมิติอย่างมีเสน่ห์ พื้นที่สองฝั่งคลองไม่เพียงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและย่านการค้าที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่ผนวกไว้ด้วยความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญมากมาย สำหรับริมคลองบางกอกน้อยมีทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงเรือพระราชพิธี มัสยิดอันซอริซซุนนะห์ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ส่วนริมคลองบางกอกใหญ่หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “คลองบางหลวง” มีวัดที่มีความสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดอินทารามวรวิหาร วัดจันทารามวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร วัดปากน้ำภาษีเจริญและวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร นอกจากนี้ ยังมีชุมชนตลาดพลูที่ขึ้นชื่อเรื่องร้านอาหารระดับตำนานและสตรีทฟู้ดมากมาย รวมถึงศาลเจ้าจีนชื่อดัง อาทิ ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง และศาลเจ้าแม่อาเนี้ยว


คลองสีเขียว

“คลองผดุงกรุงเกษม” เป็นที่รู้จักและขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นพื้นที่จัดงานและจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชน แต่ล่าสุดคลองแห่งนี้กำลังได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ ซึ่ง กทม. หมายให้เป็นอีกหนึ่งคลองสายแลนด์มาร์กที่โดดเด่นในเรื่องพื้นที่สีเขียว พร้อมเติมเต็มการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ไปพร้อมกัน

คลองสีเขียวที่น่าจับตามองที่สุดอีกแห่งหนึ่งคือ “คลองช่องนนทรี” ที่ไม่เพียงทำการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับการสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซึ่งนับเป็นโครงการต้นแบบการพลิกฟื้นระบบนิเวศของคลองแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคลองในรูปแบบของสวนเลียบคลองหรือ Linear Park ครั้งแรกของกรุงเทพฯ อีกด้วย


คลองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

อีกหนึ่งเป้าหมายที่คนรักคลองต้องไปสัมผัสคือคลองในเขตบางขุนเทียน ที่สามารถเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปถึงชายทะเล โดยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะเริ่มต้นตั้งแต่ “คลองสนามไชย” มีสถานที่สำคัญคืออนุสาวรีย์คุณกะลาที่มีลิงแสมอาศัยอยู่ราว 300 ตัวและสวนบวรประชานันท์ ถัดไปคือ “คลองพิทยาลงกรณ์” มีวัดหลวงพ่อเต่าที่ต้องไปเยือน จากนั้นเข้าสู่บรรยากาศของป่าชายเลนไปสิ้นสุดที่หลักเขตที่ 28 และ 29 เพื่อชมความงามของสีเขียวของพันธุ์ไม้และทะเลอ่าวไทย

คลองเพื่อการสัญจรพร้อมรับการท่องเที่ยว

สำหรับ “คลองแสนแสบ” ที่ถือเป็นคลองสำคัญที่ใช้ในการคมนาคมเป็นหลักมายาวนาน ไม่เพียงได้รับการพัฒนาในด้านการจัดการขยะ การดูแลความสะอาด การเพิ่มคุณภาพของน้ำและปรับภูมิทัศน์สองฝั่งคลองเท่านั้น ปัจจุบัน กทม. เล็งเห็นความเป็นไปได้ในมิติการท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือสุเหร่าบ้านดอน เขตวัฒนา ที่กำลังจะพัฒนาพื้นที่ริมคลองรกร้างให้เป็นสวนหย่อมและพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมในอนาคต

คลองแห่งน้ำใจที่หลั่งไหลด้วยความร่วมมือ

ในการพัฒนาคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนย่อมเกิดจากความร่วมใจจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีความรักให้กับคลองสายต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เช่น ชมรมคนรักษ์คลองฝั่งธนฯ ที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 20,000 คน ที่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวจากคลองฝั่งธนบุรีเรื่อยไปจนถึงคลองในเขตบางขุนเทียน นี่คือตัวอย่างของภาพความร่วมมือที่เข้มแข็งของชุมชนที่มีให้กับภาครัฐ