นฤมล ส่งต่อ “ซิมแรงงาน” ให้โอกาสกลุ่มเปราะบางท่องโลกดิจิทัล

รมช.แรงงาน จับมือหัวเว่ย แนวร่วมสนับสนุนซิมแรงงาน ใช้ฝึกอบรมคนพิการและกลุ่มเปราะบาง สร้างความเสมอภาค และมอบโอกาสเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ที่ยั่งยืน

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในงานรับมอบ “ซิมแรงงาน” ภายใต้โครงการ “ซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์” เพื่อช่วยเหลือคนพิการและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนซิมการ์ดเพื่อใช้ในการพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ ตามความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 500 ชุด เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะคนพิการและกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ ได้รับโอกาสการพัฒนาทักษะฝีมือผ่านระบบออนไลน์ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องปรับตัวให้ทันกับความปกติใหม่ (New Normal) และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต โดยแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบางถือได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่น้อยไปกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จึงให้การสนับสนุนจัดซื้อซิมการ์ด จำนวน 500 ชุด ที่ผลิตโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำไปแจกจ่ายให้แก่แรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบาง นำไปใช้ในการฝึกอบรมต่อไป ปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานแล้วกว่า 50 หลักสูตร ซึ่งคนพิการและกลุ่มเปราะบาง สามารถใช้ซิมการ์ดดังกล่าวไปใช้ฝึกอบรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก โดยวันนี้ มีตัวแทนของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ มารับมอบซิมแรงงานอีกด้วย

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า โครงการ“ซิมแรงงาน” ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการนั้น ต้องการให้แรงงานที่สนใจเข้าฝึกอบรมแบบออนไลน์ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ใช้ในการฝึกอบรม เป็นซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตแบบเติมเงินรายเดือน จากโครงข่าย NT Mobile และมีระดับความเร็วสูงถึง 4 Mbps ไม่ลดสปีด ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรมออนไลน์แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ จะได้มีทางเลือกและตัดสินใจเข้าฝึกอบรมได้เร็วขึ้น หรือผู้ที่มีอินเทอร์เน็ตใช้แต่พบปัญหาเรื่องระดับความเร็ว ก็สามารถขอใช้ซิมแรงงานนี้ได้เช่นกัน

“ในวันนี้ต้องขอบคุณ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้การสนับสนุนซิมแรงงาน เป็นวัสดุฝึกอบรม เพื่อส่งมอบโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการและกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือผ่านออนไลน์ ได้รับความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ นำไปสู่การจ้างงานที่ในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกัน ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถรับมือกับสถานการณ์ในภาวะวิกฤติไปด้วยกัน” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด