ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ คว้า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ คว้า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563 คนแรกของประเทศไทย รางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ บุคคลผู้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ อันมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม ซึ่งมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เงินรางวัล 2,000,000 บาท เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน และโล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดคุณูปการทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ ครอบคลุมหลายมิติ รวมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน วางรากฐานในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีแบบแผน เป็นระบบ ท่านคลุกคลีกับงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมามากกว่าครึ่งชีวิต เริ่มรับราชการตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 โดยในอดีต ได้ดำรงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอุดมศึกษา ได้แก่ ผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คนที่สอง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ปัจจุบันแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ด้วยความรู้ ความสามารถ และความรักในงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่านจึงอุทิศตนทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการทำงานในองค์กรพัฒนาสังคม องค์กรสาธารณกุศล รวมถึงมูลนิธิอีกหลายแห่งมาอย่างต่อเนื่อง

“เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” คือผลงานล่าสุด ที่ ศ.ดร.ไพรัชและคณะนักวิจัยได้ประดิษฐ์ขึ้น และเป็นหนึ่งในอีกหลายผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก นับเป็นความก้าวหน้าของการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ จากห้องปฏิบัติการไปสู่การผลิตและการใช้งานได้จริง มีคุณภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ แต่งบประมาณถูกลง ช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยมีการนำไปติดตั้งตามโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย มีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ เครื่องเดนตีสแกน (DentiiScan) เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้สำหรับผู้ป่วยในท่านอน และเครื่องมินิสแกน (MiniiScan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อตรวจขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อในห้องผ่าตัด ซึ่งทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ริเริ่ม คิดค้น และวางรากฐานองค์ความรู้ให้ผู้อื่นไปต่อยอดจนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังได้ส่งเสริมและให้โอกาสนักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมอบรม สัมมนา ฝึกปฏิบัติการวิจัยในสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตลอดจนให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการพัฒนากำลังคนที่สำคัญสำหรับประเทศ เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงาน ที่ทุ่มเท มีการศึกษา ค้นคว้า ติดตามความก้าวหน้าด้านวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ ศ.ดร.ไพรัช ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่เป็นทั้งอาจารย์ นักบริหาร นักคิด นวัตกร และเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อมูลนิธิฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษร พระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ และพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง สำหรับการเริ่มต้นรูปแบบการสรรหาและมอบรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ประจำปีพ.ศ.2563 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

รางวัลนี้ ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งยังไม่เคยมีหน่วยงานหรือองค์กรใดในประเทศไทยจัดมาก่อน ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเดินหน้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างและมีส่วนผลักดันให้เกิดนักคิด นักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศให้มีมากขึ้น อันจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย มูลนิธิฯ จึงได้จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง เชิดชูเกียรติบุคลากรคนไทยที่ทุ่มเท เสียสละ มีความเป็นเลิศด้านการคิดค้น พัฒนา ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการสร้างผลงาน สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม และวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต่อผู้ด้อยโอกาส

มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคม สถาบันการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลมายังมูลนิธิฯ ในครั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 33 ท่าน คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ 11 ท่าน ซึ่งมีผมเป็นประธาน ได้พิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้น และมีมติให้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นผู้สมควรได้รับ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2563 คนแรกของประเทศไทย”

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้ารับพระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ผมตั้งโจทย์ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เก่งต้องไปช่วยประชาชนได้ ทำให้คนไทยได้ประโยชน์ ให้ถึงประชาชนโดยตรง และตอบโจทย์ธุรกิจได้ จึงจะเกิดความยั่งยืน โดยต้องทำให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย แต่งบประมาณถูกลง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย เป็นหนึ่งในหลายผลงานที่ผมภาคภูมิใจ เนื่องจากมีความแม่นยำสูง วิเคราะห์สาเหตุของโรคได้ตรงและลึก ช่วยแพทย์วิเคราะห์และรักษาได้ถูกจุด มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้คนด้อยโอกาสได้เข้าถึงการให้บริการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเท่าเทียม ผมดีใจที่คนด้อยโอกาสได้รับประโยชน์จากเครื่องที่ผมและคณะนักวิจัยได้ประดิษฐ์ขึ้น ผมทำงานแล้วมีความสุข ผมภูมิใจในทีมนักวิจัยของผมทุกคนที่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย”

มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศขอขอบคุณผู้ร่วมสนับสนุน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด 3) บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) 4) เอคเซนเชอร์ 5) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) 7) บริษัท เทรดสยาม จำกัด


หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าดูได้ที่ Website มูลนิธิ Ratanarajasuda Information Technology Award Foundation www.rita.or.th