“สุพัฒนพงษ์” สร้างความมั่นใจฝ่าวิกฤตโควิด เตรียมมาตรการเยียวยา

“สุพัฒนพงษ์” สร้างความมั่นใจฝ่าวิกฤตโควิด เตรียมมาตรการเยียวยา พร้อมเตรียมแผนฟื้นประเทศผ่านกลยุทธ์ 4D “ปลัดพลังงาน” หนุนการลงทุนภาคพลังงานช่วยฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

การสัมมนา “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรุงเทพธุรกิจ ได้ระดมความเห็นของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจความรู้สึกของประชาชนถึงสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน โดยการแก้ปัญหาในระยะสั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวมาเร็วจึงขอให้ประชาชนสบายใจได้ ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณจากวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท

สำหรับการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศหลังจากนี้ได้มีการเตรียมการไว้ผ่านกลยุทธ์ 4D ประกอบด้วย

1.Digitalization การส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล โดยต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งในภูมิภาคมีสิงคโปร์และไทยที่เป็นผู้นำ แต่การลงทุนอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากทำให้ไทยมีปัจจัยรองรับได้ ซึ่งไทยจะได้พัฒนาบุคลากรในประเทศเพื่อรองรับ และหากทำสำเร็จจะมีผลผลักดันจีดีพี 0.7-0.8%

2.Decarbonization การมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ ซึ่งกลุ่มประเทศ G7 สนับสนุนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ในขณะที่ประเทศไทยมีความหลากหลายด้านพลังงาน รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในปี 2025 ในการกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถานีประจุไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กำลังออกแบบสิทธิประโยชน์การลงทุน โดยต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์คาร์บอนต่ำ

3.Decentralization โมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท ซึ่งขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจากหลายอุตสาหกรรมที่ไทยเข้มแบ็ง เช่น การพัฒนาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งสะท้อนจากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวสูงมากบนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

4.D-risk การใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ ดึงคน 4 กลุ่ม ครอบคลุมที่เป็นผู้มีฐานะดี เกษียณอายุและมีเงินบำนาญ รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำงานในบริษัทที่พร้อมใช้ไทยเป็นแหล่งทำงานที่ 2 ซึ่งจะได้วีซาพิเศษ แต่ต้องลงทุนในไทย จะได้กลุ่มคนที่พักอาศัยระยะยาว ซึ่งจะมาเสริมการท่องเที่ยว และกำลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบนี้ ภาครัฐได้มีมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยล่าสุดได้มีมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการรายเล็ก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้าแบบ Minimum charge ไปถึง ธ.ค. 2564 จากเดิมที่ต้องชำระขั้นต่ำที่ 70% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เพื่อ…

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติถือเป็นช่วงโอกาสของการลงทุน ซึ่งการลงทุนพลังงานเป็นการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งเข้าไปช่วยเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เพื่อสูบน้ำภาคการเกษตร

รวมทั้ง กฟผ.จะลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งจะสนับสุนการปลูกพืชพลังงาน และได้มีการจ้างงานในพื้นที่และนักศึกษาจบใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขอให้มั่นใจการที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแบบไม่กักตัว แต่มีการตรวจสอบเชื้อหลายรอบระหว่างที่พักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์วันที่ 1 ก.ค. 2564 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพียง 0.002% เท่านั้น แสดงว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะขยายไปพื้นที่อื่น เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า แต่จะทยอยเปิดด้วยความระวัดระวังเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทย

รวมทั้งช่วงที่ผ่านมาสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศทำงานต่อเนื่องเพราะเชื่อว่าการท่องเที่ยวต้องการมากและต้องการเห็นการท่องเที่ยวกลับมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 จะเปลี่ยนไปด้วยการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตลาดมากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การล็อกดาวน์ 14 วัน จะเห็นการค้าขายลำบาก แต่ถ้าแยกกลุ่มที่ติดกับไม่ติดออกจากกันก็จะวนกลับไปวงจรเดิม ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่าภาครัฐต้องรีบดำเนินการตรวจผู้ติดเชื้อ และภาคอุตสาหกรรมก็พร้อมตรวจผู้ติดเชื้อ เพราะตอนนี้มีการติดเชื้อในแรงงานทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับแรงงานตาม ม.33 ยังไม่ครบถ้วน

ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าจัดการได้ทุกอย่างจะกลับมา แต่ขณะนี้ระบบสาธารณสุขรับบทหนัก ถึงแม้เปิดประเทศแล้วคนไทยจะกล้าไปเที่ยวหรือไม่ วันนี้การท่องเที่ยวในประเทศเหลือเกือบ 0% ถ้าเราจัดการแยกคนที่ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อ และฉีดวัคซีนได้ครบจะทำให้ภาคธุรกิจเปิดได้และทำให้ความเสี่ยงทางธุรกิจน้อยลง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกในจังหวัดที่ถูกปิดได้รับผลกระทบมากแต่มีการปรับตัวเสริมทัพการทำงาน รวมทั้งใช้รูปแบบการค้าออนไลน์ ซึ่งทำให้ฟื้นยอดขายได้ 20-30% เพราะเมื่อยอดขายหายไปจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงซัพพลายเชน แต่ต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนไปต่อไม่ได้ ซึ่งทำให้ภาคเอกชนได้เริ่มโครงการในลักษณะผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การใช้ใบอินวอยซ์มาเป็นหลักฐานให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้

ทั้งนี้เกิดการดิสรัปชัน ทำให้พวกเราต้องปรับเปลี่ยนเพราะเกิด Homebody Economy มากขึ้น รวมทั้งในช่วงวิกฤตเราต้องมาปรับปรุงธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วจะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดดได้

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจจะต้องพิจารณาสถานการณ์ล็อกดาวน์และต้องควบคุมการระบาดระลอกที่ 4 ให้ได้ ซึ่งแม้ว่าจะล็อกดาวน์แต่ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงแง่ลบที่จะไม่เห็นจุดสิ้นสุดที่ชัดเจน เพราะการระบาดจากสายพันธุ์เดลต้าทำได้ยากจึงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันมากกว่า 5,000 คน และถ้าควบคุมไม่ได้จะเห็นการล็อกดาวน์จนเปิดเศรษฐกิจได้ แต่ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ จึงเป็นไปได้ที่ระลอก 4 มีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งทางออกระยะยาวต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่


ในขณะที่โลกหลังการฉีดวัคซีนจนเกิดภูิมคุ้มกันหมู่ ซึ่งอาจต้องฉีดทุกปี ดังนั้นจะต้องมีการปรับแผนการฉีดวัคซีน รวมถึงเมื่อมีการกลายพันธุ์ก็ต้องมีการเตรียม