“Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ซีพีเอฟ จัดการอาหารส่วนเกิน สร้างโอกาสให้ผู้ขาดแคลน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำอาหารปรุงพิเศษจากอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) กว่า 7,600 ชุด ส่งถึงมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ยากไร้และผู้ได้รับกระทบจากวิกฤตโควิด 19 สร้างความมั่นคงทางอาหารและโอกาสในการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกัน

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP ส่งมอบอาหารในโครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” กว่า 7,600 ชุด ให้กับมูลนิธิเด็ก ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค 19 จำนวน 6 แห่ง มีสมาชิกกว่า 5,000 คน ประกอบด้วย ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ชุมชนคลองส้มป่อย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนมักกะสัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสวนรื่น ศูนย์สร้างโอกาสพระราม 8 และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนดวงแข ตรอกสลักหิน รวมทั้งชุมชนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยอีก 7 ชุมชน ผ่านการปรุงอาหารจากครัวรักษ์อาหาร เพื่อมอบให้แก่ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนคลองส้มป่อย ครัววัดแข ครัววัดโสม ครัววัดภาชี ชุมชนจักรพรรดิพงศ์ และชุมชนมาชิม ซึ่งเป็นการนำอาหารส่วนเกินไปสร้างสรรค์เมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนต่อการบริโภค บนพื้นฐานมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ถูกหลักอนามัย

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้องค์กรพันธมิตรและผู้บริโภคเก็บและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติกจากการมอบอาหารของโครงการฯ แล้วกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่ง GEPP เป็นผู้รับผิดชอบนำไปส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การบริหารจัดการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การนำไปสร้างประโยชน์ใหม่ (Upcycling) รวมทั้งการนำไปใช้เป็นพลังงาน เพื่อตัดวงจรขยะลงสู่หลุมฝังกลบ ตามเป้าหมายของโครงการฯ ที่มุ่งเน้นลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการฯสามารถลดขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบได้มากกว่า 1.8 ตัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,441 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายวุฒิชัย กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสนับสนุนการนำอาหารส่วนเกินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ด้วยการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus Management)) สอดคล้องกับเป้าหมายของ ซีพีเอฟ ที่มุ่งมั่นลดขยะอาหารเป็นศูนย์ในปี 2573 (Zero Waste to Landfill) ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทุกกลุ่ม ซึ่งโครงการนี้ มีเป้าหมายส่งมอบอาหารตลอดปี 2564 จำนวน 10,000 ชุด ให้กับผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนอาหารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืนและการบริโภคด้วยความรับผิดชอบ เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการขจัดความหิวโหย การขาดแคลนอาหาร และสร้างสมดุลธรรมชาติให้คืนกลับมา จากการบริโภคอย่างรู้คุณค่าโดยไม่เหลือเป็นขยะอาหารหรืออาหารส่วนเกิน” นายวุฒิชัย กล่าว

โครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารทุกสถานการณ์ สอดคล้องตามเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 บริษัทฯมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับกิจกรรมการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” ร่วมรับผิดชอบสังคมและสนับสนุนการทำงานของบุคลากร อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐและภาคสนาม


ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ยังได้ส่งอาหารให้แก่ผู้กักตัว ผู้ป่วย กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง รวมส่งอาหารไปแล้วหลายล้านแพ็ค และทำโครงการ “ลดจริง..ไม่ทิ้งกัน” โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ลดราคาสินค้าอาหารและจำหน่ายข้าวกล่องๆ ละ 20 บาท จำนวน 1 ล้านกล่อง โครงการ Food Truck นำข้าวกล่องไปแจกเป็นอาหารกลางวันให้กับชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ดูแลส่งอาหารให้แก่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ฉีดวัคซีน กลุ่มเปราะบาง จุดตรวจโควิด และหน่วยงานต่างๆมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ