จุดเริ่มต้น “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” สู่ความมั่นคงทางอาชีพของ ชาวบ้าน-ชุมชน

“เป็นความโชคดีของคนไทย และเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญในชีวิตของผมที่ได้มาทำโครงการนี้” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในการเป็นกำลังสำคัญ ผลักดันเรื่อง “ผ้าไทย” เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน และเสริมความมั่นคงในอาชีพให้กับประชาชนทั่วประเทศ

อธิบดี พช. มองว่า “ผ้า” เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่มีชีวิตเคยผ่านจุดที่รุ่งเรือง และเคยมีจุดที่ไม่สดใสบ้าง ซึ่งในระยะแรกๆผ้าไทยอาจจะไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากนัก แต่พอสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านทรงรื้อฟื้น ส่งเสริม และสนับสนุนจนยุคที่รุ่งเรื่องที่สุด ในสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี “ผ้าไทย” ถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง และพวกเราโชคดี ที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญ ในการที่จะใช้เรื่องผ้าไทยเป็นเครื่องมือใน “การเพิ่มคุณภาพชีวิต” ให้กับพี่น้องประชาชนในชนบท ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ในยุคปัจจุบัน จุดเปลี่ยนสำคัญต่อวงการผ้าไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าภาพหลักในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ตามแนวทางโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่ง กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น

“จากจุดนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ได้กระตุ้น ยอดขาย และส่งผลในแง่ของฝ่ายผู้ผลิตผ้า ซึ่งผ้าไทยของเรามีทั้ง ผ้ามัดหมี่ ยกดอก บาติกปาเต๊ะ ผ้าปัก ฯลฯ แล้วแต่เสน่ห์ในภูมิภาคต่างๆที่มีเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่น ทำให้ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น ทั้งยังสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคง สร้างชุมชนมั่งคั่งและยั่งยืน” อธิบดี พช.เผย

ที่สำคัญยิ่ง ถือว่าเป็นบุญของคนไทยเหนือสิ่งอื่นใด เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ท่านทรงยื่นพระหัตถ์ลงมาช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งความจริงแล้วพระองค์ท่านได้ทรงช่วยมาอย่างยาวนานแล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้พระองค์ทรงได้ช่วยผ่านกรมการพัฒนาชุมชน

ถามว่าทำไมถึงเป็นช่วงจังหวะที่เป็นบุญ ก็เพราะว่าในช่วงปี 2563 หลังจากมีมติ ครม. ประเทศเรายังอยู่ในช่วงโควิดระบาดในระลอกแรก สถานการณ์ที่ทำท่าเหมือนจะดีก็ได้รับผลกระทบก็เหมือนกับว่าตลาดจะย่อตัวลง ส่วนที่กล่าวว่าถือเป็นจังหวะที่เป็นบุญของพวกเรา คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ ราชกัญญา ทรงตกผลึกในการที่จะสืบสานรักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทรงมีวิริยะ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม พี่น้อง ในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดลำพูน จังหวัดสกลนคร ในแต่ละครั้งที่ทรงเสด็จ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีโอกาสพาพี่น้อง ที่เป็นผลผลิตจากศูนย์ศิลปาชีพ ต่อมาพัฒนากลายเป็นกลุ่ม OTOP ด้านผ้า มาเฝ้ารับเสด็จฯและถวายผลงานให้ทอดพระเนตร พระองค์ท่านทรงพระอัจฉริยภาพ ทรงแนะนำให้กับชาวบ้านอย่างมาก ทรงชี้ให้เห็นในรายละเอียดของแต่ละชิ้นงาน และพระองค์ทรงมีพระวินิจฉัย พระราชทานคำแนะนำ ให้เห็นเป็นจุด ๆ และทรงแนะนำทางแก้ให้แก่ชาวบ้านในทุกชิ้นงาน

อีกประการสำคัญ คือพระองค์ท่านทรงติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เมื่อทรงมีพระวินิจฉัยแล้ว จะไม่ทรงปล่อยไปเลย ในทุกเดือนทางกรมการพัฒนาชุมชน ได้รวบรวมเอาความก้าวหน้าของชาวบ้านทั้งชิ้นงานและภาพถ่าย กราบบังคมทูลให้ทรงทราบโดยตลอด แต่ที่เป็นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดและถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญในชีวิตของผมด้วย คือเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 พระองค์ท่านทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นขวัญกำลังใจ เพราะในตอนนั้นสถานการณ์ในประเทศเรามีการระบาดระลอก 2 คลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาคร เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนเสด็จพระราชดำเนินเพียงไม่กี่วัน แต่พระองค์ท่านทรงเสด็จมาเปิดงาน Otop City ที่เมืองทองธานี ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการที่จะจัดงานกันจากเรื่องนี้เราได้สัจธรรมอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงมีความเด็ดเดี่ยวที่จะให้ชีวิตทุกอย่างดำเนินไปได้


อธิบดี พช. เผยว่า ที่บอกว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของชีวิตของผม นอกจากพระองค์ท่านจะเสด็จมาเปิดงานเป็นครั้งแรกตั้งแต่เคยมีการจัดงานกันมา ที่สำคัญยิ่งก็คือว่า พระองค์ท่านได้เตรียมแบบลายผ้าที่ทรงออกแบบมา พระราชทานให้กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งผ่านต่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องคนไทยทั่วประเทศ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตชาวบ้าน นับว่าเป็นการปลุกกระแสวงการผ้าไทยทุกภูมิภาค ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าตามแบบวิถีดั้งเดิม ให้เกิดความทันสมัย สร้างอัตลักษณ์ใหม่อันเป็นที่ถูกใจของตลาด ขยายฐานลูกค้าที่มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส สมดังพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” นำมาซึ่งกำลังใจ และความภาคภูมิใจของช่างทอผ้าเป็นอย่างมาก