กรมสุขภาพจิต ชวนสร้างภูมิคุ้มกันใจด้วย “อึด ฮึด สู้” ให้คนไทยเดินหน้าต่อ ด้วยความหวัง ให้คนไทยเดินหน้าต่อ ด้วยความหวัง

ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสถานการณ์รุนแรงที่เราต่างไม่เคยเจอและคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อที่ยังคงอยู่มานานหลายเดือน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และเกิดปัญหาด้านสภาวะทางอารมณ์ จิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการติดตามการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และพบว่าความสูญเสียนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งหากการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นยาวนานก็ย่อมจะส่งผลต่อการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งจากการทำการศึกษาอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อต้นปี 2563 พบว่า ปัญหาการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรง และแนวโน้มการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ จิตใจ สะสมและพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยตัวเลขประมาณการของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปี 2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปี ซึ่งสูงกว่าช่วงปี 2562 ที่ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี

กรมสุขภาพจิต ห่วงคนไทยเครียด !

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดถึงความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย ว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะการสูญเสียของประชาชนจากการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญ เพราะสุขภาพจิตถือว่าเป็นข้อบ่งชี้และเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบการเรียนการศึกษา ทุกการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทยได้อย่างต่อเนื่อง คนส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวได้ แต่คนอีกจำนวนหนึ่งอาจไม่พร้อมในการปรับตัว ก็จะส่งผลกระทบด้านสุขภาพจิตได้มาก

“สธ. โดยกรมสุขภาพจิต มีความพยายามที่จะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต ตลอดจนการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้น้อยลงที่สุด แต่ทั้งนี้ทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุขเท่านั้น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ควรต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพจิตของประชาชนและใช้เป็นแนวคิดในการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้าผ่านอุปสรรคครั้งสำคัญนี้ไปให้ได้”

ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้น บุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า รวมไปถึงพี่น้อง อสม. เป็นผู้ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อคอยปกป้องชีวิตของพี่น้องประชาชนไทยมาโดยตลอด จึงอาจทำให้เกิดภาวะเหนื่อยล้า ท้อแท้ หมดไฟ รวมไปถึงมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นตามไปด้วย

“การสร้างความตระหนักของสังคมเกี่ยวกับความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในช่วงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สธ. จึงอยากใช้โอกาสเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก วันที่ 10 กันยายน ปีนี้ ในการส่งกำลังใจไปถึงพี่น้องประชาชนไทย รวมถึงบุคลากรที่กำลังทำงานอย่างเข้มแข็งทุกคน ให้ทุกคนมีพลังใจที่ดี เพราะพลังยืดหยุ่นของจิตใจช่วยให้เราผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ และอย่าลืมพูดคุยและให้กำลังใจกับคนรอบข้างมากขึ้น เพราะพลังใจจากคนใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้”

สร้างภูมิด้วย “อึด ฮึด สู้” เดินหน้าต่อ ด้วยความหวัง

ในภาวะวิกฤติด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศ กรมสุขภาพจิตซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ในการพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศ จึงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายภายใต้กรอบแนวคิดการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนให้เกิดภูมิคุ้มกันด้านจิตใจระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับชุมชน โดยใช้แนวทาง “อึด ฮึด สู้”

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการทำงานของกรมสุขภาพจิต และการป้องกันการฆ่าตัวตายภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ในปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้บูรณาการงานป้องกันการฆ่าตัวตายกับทุกภาคส่วน และได้มีการพัฒนาบริการเดิมและเปิดบริการใหม่เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิตและลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตายด้วย เช่น การทำงานของ HOPE Task Force ที่บูรณาการร่วมกับกองบังคับการปราบปรามและโซเชียลอินฟลูอินเซอร์ ซึ่งปฏิบัติภารกิจพิเศษมาได้ครบ 1 ปีเต็ม และช่วยเหลือคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายได้มากกว่า 100 ราย

การร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน SATI application ให้บริการการรับฟังจากอาสาสมัครด้านสุขภาพจิต ก็ช่วยให้คนที่กำลังรู้สึกสิ้นหวังได้พูดคุยกับใครสักคนในขณะนั้น การเปิดไลน์แอด 1323forthai สำหรับประชาชน เน้นการช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อโควิดและกำลังต้องเผชิญกับความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่กำลังกักตัว และผู้ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดอีกด้วย

นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และหัวหน้าศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ให้ข้อมูลเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายว่า “ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกปีนี้ กรมสุขภาพจิตได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย โดยหัวใจสำคัญของการทำงานปีนี้ เราต้องการให้สังคมไทยสามารถไปต่อข้างหน้าได้ด้วยการมีความหวัง แม้ว่าในช่วงนี้การดำเนินชีวิตแต่ละวันอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยแคมเปญ #SeeYouTomorrow จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทางร่วมกับหลายๆ องค์กร มุ่งเป้าให้คนไทยสามารถใช้พลังใจ และรู้สึกมีหวังในสถานการณ์ที่เคร่งเครียด ให้ทุกคนเห็นว่าทุกคนในสังคมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติในวันพรุ่งนี้ และลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด

“สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายชาติในขณะนี้ เรากำลังพัฒนาฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ให้มีความแม่นยำมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์ทำนายอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในอนาคตได้ดีมากขึ้น ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้ได้อย่างเที่ยงตรงมากขึ้น” นายแพทย์ณัฐกร กล่าว

เช็คสุขภาพจิตตัวเอง สังเกตคนข้างตัว และรับฟังปัญหา


ปิดท้ายที่ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต พูดถึง 10 แนวทางการสังเกตผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายว่า 1. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย เป็นหนี้ สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ 2. ใช้สุราหรือยาเสพติด 3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย 4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร 5. นอนไม่หลับเป็นเวลานาน 6. พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง 7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ 8. พูดว่าอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ 9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน และ 10.มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง จัดการทรัพย์สิน

นอกจากนี้ยังอาจสังเกตสัญญาณในสื่อโซเชียลที่สามารถเห็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิด โพสต์ข้อความทำนองนี้ให้ระมัดระวัง เช่น การสั่งเสีย เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน โพสต์หรือเขียน ทำนองว่า ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว เรื่องความเจ็บปวด ทรมาน โพสต์ความรู้สึกผิด หมดหวังในชีวิต และโพสต์เป็นภาระผู้อื่น หรือรู้สึกไร้ค่า

“การรับฟังที่ดีจะช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างมาก โดยหลักของการฟัง 3 ประการมีดังนี้ 1. การฟังด้วยหู คือ การรับฟังเรื่องราว เนื้อหา สาเหตุ 2. การฟังด้วยตา คือ การฟังสีหน้า ท่าที กิริยา 3. การฟังด้วยใจ คือ การรับฟังอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการลึกๆ ในใจ แม้ในสถานการณ์ที่สังคมเคร่งเครียดแต่เราเองสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีได้ โดยมีใจที่พร้อมเปิดรับฟัง การจับประเด็นและสรุปใจความสำคัญได้ การจับความรู้สึกของผู้พูดและสะท้อนความรู้สึกได้ การยอมรับอย่างไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แนะนำสั่งสอน หรือเล่าเรื่องตัวเองแทน และหลังจากจบการรับฟังแล้ว ผู้ฟังจะไม่เก็บความทุกข์ของผู้อื่นไว้กับตัวเอง สามารถผ่อนคลายได้ แต่หากช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ยังมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองอยู่ ควรแนะนำให้เข้ารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทันที” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว


การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังสามารถช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสร้างพลังใจและตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสังคมไทยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย