ต้นแบบความสำเร็จ พลิกชีวิตด้วย “ทฤษฎีใหม่” ส่งต่อสังคมยั่งยืน

“โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตผมมาก จากชีวิตที่มีค่าเล็ก ๆ ในวันนี้มีความหมายมากมาย เมื่อผมมาเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ และได้เป็นผู้นำต้นแบบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีส่งต่อไปให้ชุมชนและเครือข่าย ทำให้ชีวิตของใครอีกหลายคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายสุนทร แววมะบุตร เกษตรกรผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา ของกรมการพัฒนาชุมชน รุ่นที่ 1 บอกเล่าถึงการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในชีวิต ทำให้วันนี้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความหมายต่อคนอื่นอีกมาก


นายสุนทรเล่าว่า ตัวเองมีพื้นที่ 3 ไร่ ในตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ยังไม่ได้ปรับเป็นรูปแบบเป็นทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา แต่พอได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ หลักสูตรผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จึงได้มีการปรับพื้นที่ใหม่ มีการขุดหนอง มีคลองไส้ไก่ ขุดหลุมขนมครกและขยายพื้นที่ในการปลูกป่า 5 ระดับ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเป้าหมายในการพึ่งพาตัวเองให้ได้ เพราะเมื่อเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว เราก็จะแบ่งปันให้คนรอบข้าง หลังจากได้แบ่งปันก็นำผลิตผลมาแปรรูปและเข้าสู่กระบวนการขายต่อไป

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ณ ตอนนั้น วันนี้นายสุนทรสามารถที่จะบริหารจัดการรายได้ในพื้นที่ของตัวเอง นำประโยชน์คืนสู่สังคม ด้วยการเปิด Academy ฝึกสอนฟุตบอลให้กับเด็ก ๆ เยาวชน อายุตั้งแต่ 8 – 13 ปี ในชื่อ Academy บ้านแพรกจูเนียร์ ซึ่งใช้งบประมาณที่ได้จากการขายผัก จากการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ มาสร้างสถาบันฝึกซ้อมฟุตบอลแก่เด็กในพื้นที่ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 30 คน


หลักการสำคัญในชีวิต ที่นายสุนทร ยึดถือคือการน้อมนำศาสตร์พระราชา “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” โดยเฉพาะ การพอกิน พอใช้ พออยู่ และ พอร่มเย็น 4 ขั้นพื้นฐานนี้ ทำให้เขาสามารถหาอยู่หากินในพื้นที่ของตัวเอง 3 ไร่ได้ พร้อมเปิดพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้และสานต่อแนวคิดที่ได้ร่ำเรียนมา ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้าน โดยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องของกสิกรรมธรรมชาติ-โคก หนอง นา จนสามารถขยายเครือข่ายต่อเนื่องจากระดับตำบลสู่อำเภอ แล้วขยายมาสู่ระดับจังหวัด

ปัจจุบันนายสุนทรเป็นเลขานุการเครือข่ายโคก หนอง นา ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งหมด 16 อำเภอ เครือข่ายของเราได้ทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคีร่วมกันทุกสัปดาห์ สิ่งที่พวกเราทำร่วมกันเป็นการทำงานแบบจิตอาสา พวกเราช่วยกันลงแรงขุดคลองไส้ไก่ ขุดหลุมขนมครก ช่วยกันห่มดิน ทำปุ๋ยหมัก ดำนา ปลูกต้นไม้ หรือจะทำแปลงผักพวกเราก็ไปร่วมมือกันมากกว่า 350 ชีวิต ก่อนที่ต่อมาจะขยายภาคีเครือข่ายอีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย ปราจีนบุรี นครนายก ปทุมธานี และนนทบุรี

จากพลังเครือข่ายที่เข้มแข็งนี้ นายสุนทรยังได้เป็นครูพาทำและได้เดินทางไปในหลายอำเภอ หลายจังหวัด ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชน ได้เชิญให้ไปเป็นวิทยากร บรรยายที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก รวมถึงเป็นวิทยากรอบรมพัฒนากรรุ่น 116 -117 หลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันก็ยังเดินสายถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากปรับปรุงพื้นที่ตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งเป็นศูนย์แม่แล้ว นายสุนทรบอกเล่าว่า เขาได้ร่วมผลักดันขยายศูนย์เรียนรู้ไปในตำบลอื่น ๆ ด้วย เช่น ศูนย์ลูกที่ตำบลสำพะเนียง จะเป็นศูนย์แห่งการเพาะพันธุ์พืชและขยายพันธุ์สัตว์ ก่อนจะขยายต่อไป ศูนย์ที่ 3 โรงเรียนวัดหลวงพ่อเขียว ซึ่งจะเน้นเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานธรรมชาติ โซล่าเซลล์ ทั้งหมดเป็นการประสานเครือข่ายโคก หนอง นา ของอำเภอบ้านแพรกของเขาจนเกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร

พร้อมกับต่อยอดและพัฒนาให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการจัดการภายในเครือข่าย จากจุดเริ่มต้นที่เรามีงบประมาณอยู่หนึ่งก้อน เมื่อปี 2563 เราสามารถซื้อเป็ดได้ 50 ตัว แต่เนื่องจากมีครัวเรือนอยู่ 30 หลัง เราเลยบริหารด้วยการแบ่งเป็ด 50 ตัวให้ 5 ครัวเรือน ๆ ละ 10 ตัว โดยที่มีข้อตกลงกันว่าเมื่อคุณเอาเป็ดไปแล้ว คุณจะมีเงินเข้ามาจากการขายไข่โดยประมาณ 10 ตัว น่าจะได้ไข่เกิน 3 แผง แบ่งขาย 1 แผง ราคาประมาณ 160 บาท โดยนำเงินที่ได้นี้เข้ากองกลางเป็นเวลา 7 เดือน จะทำให้ครัวเรือนที่ 6-10 มีเงินซื้อเป็ดเพิ่มขึ้น อีก 50 ตัว เราก็ทำลักษณะเดียวกันต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะได้ไก่อีก 50 ตัว จนปัจจุบันนี้เรามีไก่ทั้งหมด 100 ตัวและเป็ด 100 ตัว ทำให้ทุกครัวเรือนก็จะมีรายได้ขั้นต่ำเฉพาะการขายไข่เป็ด ไข่ไก่ 100 บาทต่อวัน นอกจากนั้น ยังมีการปลูกต้นไม้และพืชผักสวนครัว รวมถึงการเลี้ยงปลาตะเพียนในบ่อนํ้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดในการส่งเสริมความรู้และอาชีพ ให้แก่คนในชุมชนได้อีกด้วย จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร นั่นคือ “เมี่ยงคำ” ซึ่งมาจากผลผลิตในแปลงที่เพาะปลูก นี่คือความมั่นคงด้านอาหารที่สามารถสร้างเครือข่ายของอำเภอบ้านแพรกได้


จากการที่ได้ดำเนินการกันมา นายสุนทรบอกว่า เครือข่ายในพื้นที่เริ่มมองเห็นอนาคตแล้วว่า เรามีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น จากการน้อมนำกว่า 40 ทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้ทุกคนรับรู้ว่า “วันนี้เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ดังนั้นการทำกสิกรรมธรรมชาติ การทำโคก หนอง นา จึงสามารถทำให้อยู่รอดได้ในสภาวะปัจจุบันนี้ ที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เพราะทุกคนโหยหาเรื่องของอาหาร แต่ว่าคนที่อยู่ในภาคการเกษตรไม่เดือดร้อนเพราะเขาสามารถหาอยู่หากินในพื้นที่ได้ ต่อให้ขายไม่ได้ ต่อให้ตลาดปิดก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีเครือข่าย มีการแบ่งปัน
สุดท้ายนายสุนทร บอกเล่าความในใจว่า โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตของเขาได้จริง ๆ ด้วยการน้อมนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา สามารถทำให้หาอยู่และหากินในพื้นที่ได้ สิ่งสำคัญที่จะได้ตามมาก็คือ 1.สุขภาพ 2.ความสุขที่จะได้อยู่ร่วมกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ไม่ต้องออกไปเสี่ยงนอกพื้นที่ในช่วงการแพร่ระบาด 3.ชัดเจนที่สุดเลย คือเรามีอาหารกิน เรามีอาหารแบ่งปันช่วยเหลือสังคม หลายคนอาจมองว่าเงินเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 จะพบว่าอาหารต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะถ้าไม่มีอาหารเราอยู่ไม่ได้ ปัจจุบันนี้ได้เห็นว่าหลาย ๆ คนเริ่มหันมาให้ความสนใจในการทำเกษตร เริ่มหันมาปลูกผักข้างบ้าน ปลูกในตะกร้า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่เราเลือกลิขิตชีวิตด้วยตัวเอง และการมาร่วมโครงการโคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน สามารถเปลี่ยนชีวิตของหลาย ๆ คนได้ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก