WHO-นักวิจัยไทย ย้ำ! เนื้อสัตว์และอาหารแช่แข็ง ไม่ใช่พาหะโควิด

young Asian woman wearing protection mask against Novel coronavirus (2019-nCoV) or Wuhan coronavirus at public train station,is a contagious virus that causes respiratory infection.Healthcare concept

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีหลักฐานการยืนยันที่แน่ชัด หรือเป็นที่ยอมรับทั่วโลกถึงแหล่งกำเนิด ที่มาของโควิด-19 แต่ยังคงมีบางข้อมูลที่กล่าวถึงอาหารแช่แข็งที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดนี้

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในอาหารหรือบนบรรจุภัณฑ์ได้ ไวรัสต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิตหรือมนุษย์เพื่อเพิ่มจำนวนและอยู่รอด และต้องการสภาวะที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวน ดังนั้นเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถรอดชีวิตในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ จึงไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร รวมทั้งอาหารแช่แข็ง


สอดคล้องกับที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เคยให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า เชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในคน โดยติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและแพร่เชื้อจากคนสู่คน ซึ่งการติดเชื้อวิธีนี้จะไม่มีผลต่อระบบทางเดินอาหารมากนัก แต่มีบางกรณีที่ไวรัสเข้าสู่ร่างกายและกระจายจากตำแหน่งทางเดินหายใจไปสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยไวรัสมีการนำส่งจากปอดไปที่ลำไส้ผ่านทางกระแสเลือด ซึ่งไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหาร ขณะที่ ไวรัสที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินอาหารจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไม่ได้ และมีวิธีการเข้าสู่ร่างการแตกต่างกัน


จากกรณีประเทศจีนยกเลิกนำเข้าสินค้าปลาแซลมอนจากประเทศนอร์เวย์ หลังจากพบเชื้อโควิด-19 บนเขียงแล่ และต่อมามีการแพร่กระจายเชื้อในกรุงปักกิ่ง แท้ที่จริงแล้วสาเหตุที่ผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้มาจากการรับประทานปลา แต่เกิดจากการจับปลาและไม่ระวัง ไม่ล้างมือให้สะอาด เชื้อจึงเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสหน้าหรือมือป้ายตา ซึ่งเป็นช่องทางในการติดเชื้อที่สูงมาก ดังนั้น ต้องแยกแยะสาเหตุของการติดเชื้อ เพราะว่าการรับประทานโดยตรงไม่ก่อให้เกิดโรค แต่การสัมผัสไวรัสมีโอกาสเกิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีปริมาณไวรัสเยอะและไวรัสอยู่ในสถานที่เย็น จะคงทนอยู่ได้นานมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ดร.อนันต์ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเข้าใจเชื้อไวรัสว่าติดต่อทางใด เพื่อให้ปฏิบัติตนเองได้อย่างถูกวิธี”



อย่างไรก็ดี ทุกคนคงต้องใช้ชีวิตร่วมอยู่กับเชื้อโควิด-19 ต่อไป นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว มีข้อปฏิบัติที่ WHO แนะนำประชาชนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ดังนี้ 1) รักษาความสะอาดของมือและพื้นผิวที่สัมผัส 2) แยกอาหารดิบและปรุงสุกออกจากกัน 3) ปรุงอาหารให้สุก 4) เก็บอาหารไว้ในอุณหภูมิที่ปลอดภัย 5) การเลือกซื้ออาหารหรือเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดคือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่เชื้อ และบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย