กยท.ปรับเกณฑ์ขึ้นทะเบียนชาวสวนยางเขตป่าเข้ารับสิทธิ์ทัดเทียมกลุ่มมีเอกสารสิทธิ์

ปัจจุบันการปลูกยางพาราอยู่ในพื้นที่ไม่เอกสารสิทธิ์อยู่จำนวนมาก ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการส่งเสริมจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เทียบเท่ากับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่น้ำยางที่ได้ ถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออก หรือเงิน เซส เท่ากัน ดังนั้น คณะกรรมการ กยท. (บอร์ด) จึงปรับ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนใหม่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกับเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม


นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปลูกยางพาราในพื้นที่ป่านั้น มีอยู่จริง ซึ่ง กยท.อนุโลมให้จดแจ้งเอาไว้ ในกรณีที่ต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายภาครัฐ แต่ไม่สามารถส่งเสริมการปลูก หรือชดเชยตามระเบียบของ กยท. เมื่อเทียบกับเกษตรกรปลูกในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การชดเชยกรณีเกิดประสบภัยทางธรรมชาติ การค้ำประกันเงินกู้ เป็นต้น


แต่น้ำยางในพื้นที่ปลูกเขตไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังกล่าวสามารถนำมาจำหน่ายและส่งออกได้อย่างถูกต้อง และถูกจัดเก็บ เซส เช่นเดียวกันน้ำยางในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อใช้พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศในอัตราที่เท่ากัน

ทั้งหมดทำให้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหนังสือถึง กยท. ระบุว่าเป็นการละเมิด และให้แก้ไขระเบียบสร้างความเท่าเทียบกัน ดังนั้นการประชุมบอร์ด กยท. ล่าสุดจึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางใหม่ เน้นดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศอย่างทั่วถึง สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์

ซึ่ง กยท.จะแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางพารา (กนย.) รับทราบในวันที่ 16 ก.ย. นี้ หลังจากนั้น บอร์ด จะออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ให้รับทราบโดยทั่วกันในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งร่างประกาศดังกล่าว จะระบุเพิ่มเติมเอกสารที่สามารถนำมาประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเอกสารรับรองอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น บัญชีเอกสารหลักฐานที่ดิน 2 ในส่วนของหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ได้แก่ แบบคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.1) แบบคำขอขึ้นทะเบียนคนกรีดยาง (คบก.2) แบบหนังสือรับรองตนเอง (คบก.6) และแบบบันทึกค่าพิกัดแปลงสวนยาง (คบก.7) และแบบคำขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.8) กรณีเกษตรกรชาวสวนยางมีความประสงค์ขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน


“ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ฉบับที่ 2″

จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง 456,061 ราย พื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่ ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ” เช่น การสนับสนุน การช่วยเหลือ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) (4) (5) และ (6) ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ต้องการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะไม่แยกบัตรเขียวและบัตรชมพูอีกต่อไป ซึ่งชาวสวนยางสามารถรับฟังประกาศอย่างเป็นทางการและศึกษารายละเอียด เพื่อเตรียมตัวติดต่อสำนักงาน กยท.จังหวัดสาขาใกล้บ้านต่อไป

รายงานข่าวจาก กยท. แจ้งว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กยท. แยกออกเป็น 2 กลุ่ม รวมมีพื้นที่ 22 ล้านไร่ มี 1.9 ล้านคน แยกเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบัตรสีเขียว 1.17 ล้านคน คนกรีดยางพารา 2.6 แสนคน และเกษตรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบัตรสีชมพู 4.5 แสนคน

ในส่วนของกลุ่มบัตรสีชมพูนั้นเป็นการแจ้งจด เพื่อทราบและนำมาใช้ในกรณีที่ต้องให้การช่วยเหลือ หรือชดเชยตามนโยบายรัฐ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือภายใต้ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เช่นการโค่นยางเพื่อปลูกทดแทน ไร่ละ 16,000 บาท การชดเชยกรณีประสบภัยธรรมชาติ การค้ำประกันเงินกู้โดย กยท. การส่งเสริมปัจจัยการผลิต การอบรม ดูงานที่สถาบัน เป็นต้น

แต่หลังจากนี้ เมื่อบอร์ด กยท.ออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขใหม่ กยท.จะต้องทบทวนการขึ้นทะเบียนทั้งหมด โดยเกษตรกรต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมายืนยัน และสามารถรับสิทธิ์ผลประโยชน์ได้เท่าเทียบกันทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มใด ๆ อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนกลุ่มปลูกยางในพื้นที่ป่าดังกล่าว ไม่มีเจตนาจะส่งเสริมการปลูกยางในเขตป่า แต่การปลูกหรือโค่นยางในเขตป่า ของเกษตรกรต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับ กยท.ที่ต้องการสร้างความเสมอภาคกับเกษตรกรทุกคนให้เข้าถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น