สุดยอดของความภาคภูมิใจของชาวอ่างทอง กลองเอกราชสินค้าขึ้นทะเบียน GI ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

กลองเอกราช งานหัตถศิลป์ของชาวอ่างทองอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความประณีตงดงาม และมีคุณภาพสูงจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้เป็นสินค้าใหม่ในปี พ.ศ. 2564 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นลำดับที่ 156 ในเดือนมิถุนายน อีกทั้งยังเป็นสินค้าตัวแรกของจังหวัด ส่งผลให้โครงการ 1 จังหวัด 1 สินค้าของ GI ประสบความสำเร็จ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

กลองเอกราช หมายถึง กลองยาว หรือ กลองเพล (กลองทัด) ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน นำมาขึ้นรูปทรงตามประเภทของกลองที่มีขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และประเภทสวยงาม โดยมีหนังกลองทำมาจากหนังสัตว์หลายชนิดตามความเหมาะสม ผลิตตามกรรมวิธีและภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์โดยช่างฝีมือที่มีความชำนาญเฉพาะตัว ในเขตพื้นที่ที่กำหนดของตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

โดยลักษณะของ กลองยาว เป็นกลองหน้าเดียวที่มีรูปร่างกลมยาว ตัวกลองตอนหน้ามีขนาดใหญ่ใช้ขึงหนัง ตอนกลางมีขนาดเล็กเรียวและตอนปลายหรือฐานกลองจะบานคล้ายดอกลำโพง มีสายสะพายสำหรับสะพายบ่า ส่วนกลองเพล หรือกลองทัด มีสองหน้าขนาดใหญ่ ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังสัตว์ ตรึงด้วยหมุดหุ่นกลองทำจากไม้เนื้ออ่อน กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรงป่องตรงกลางเล็กน้อย หมุดที่ตรึงหนังเรียกว่าแส้ ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ ตรงกลางหุ่นกลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า หูระวิง กลองทัดจะมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง มี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูงตีดัง “ตุ้ม” เรียกว่า ตัวผู้ และลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง “ต้อม” เรียกว่า ตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ และกลองประดับตกแต่ง หรือกลองที่ระลึก จะมีรูปร่างหรือรูปทรงเช่นเดียวกับกลองที่เป็นเครื่องดนตรี แต่จะมีขนาดและรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม และอาจทำลวดลาย ทาสีในรูปแบบอื่นๆ เพื่อความสวยงาม

ด้วยสภาพพื้นที่ทั่วไปของตำบลเอกราชที่เป็นที่ราบลุ่มคล้ายแอ่งกะทะ มีภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตโซนร้อนและชุ่มชื้น แบบฝนเมืองร้อน จึงทำให้ต้นจามจุรี ต้นมะม่วง ต้นขนุน และต้นกระท้อน ไม้เนื้ออ่อนที่ปลูกตามริมคันนาขึ้นและเติบโตได้เร็ว เหมาะสำหรับนำไม้ไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักของการทำกลองคุณภาพดี รวมถึงภูมิอากาศที่เป็นเทคนิคสำคัญในการทำกลองและความเชี่ยวชาญของคนในพื้นที่ที่ทำกลองมาเป็นเวลานาน จึงทำให้กลองเอกราชเป็นกลองที่ดีมีคุณภาพและมีมาตรฐานจนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ตลอดจนมีการสืบทอดองค์ความรู้กันในชุมชน จนกลายเป็นหมู่บ้านทำกลองที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2554 และเป็นหมู่บ้านทำกลองและศูนย์ซ่อมกลองแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และถือเป็นสินค้าต้นแบบ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองอีกด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติทได้ที่ https://bit.ly/3nwXrrJ