อีกหนึ่งความภาคภูมิใจชาว พช. หมู่บ้านคชานุรักษ์-รณรงค์ปลูกผักกินเอง พัฒนาคนอย่างยั่งยืน

“กรมการพัฒนาชุมชน โชคดีที่มีโอกาสได้สนองงานพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ ด้วยความใส่พระราชหฤทัยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวถึงความภาคภูมิใจในโอกาสที่ได้เข้ามาขับเคลื่อนหลายโครงการเพื่อประชาชน ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29


นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงอีกหนึ่งโครงการที่ภาคภูมิใจในชีวิตที่กรมการพัฒนาชุมชนได้มีโอกาสสนองงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงเป็นองค์ประธาน “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ในการแก้ไขปัญหาคนกับช้าง โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้ประชาชนมีอาชีพที่ยั่งยืนตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ และจัดทำแผนชุมชนการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นคงเกิดเครือข่ายในการพัฒนาต่อเนื่อง ที่สำคัญจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนและช้างได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์ที่กรมฯรับผิดชอบดูแลชาวบ้าน ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้สามารถทำมาหากินในช่องทางที่เป็นมิตรกับช้างได้โดยสะดวก


พระองค์ท่านทรงใส่พระหฤทัยและทรงมีพระปณิธานที่จะทำให้คนกับช้างอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งแท้ที่จริง คนมักเข้าใจผิดว่าช้างมาบุกรุกพื้นที่ของคน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว คือ คนบุกรุกที่อยู่อาศัยของช้าง เพราะอย่างพื้นที่หมู่บ้านคชานุรักษ์ในจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนหมู่บ้านที่ช้างเคยอาศัยอยู่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ต้องการทำให้ชาวบ้านมีจิตใจที่เข้าใจและพยายามปรับตัวในเรื่องของการประกอบอาชีพที่จะสามารถอยู่ได้อย่างไม่เบียดเบียนช้าง และช้างไม่มาเบียดเบียนคน ซึ่งก็มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ

นอกจากเรื่องของอาชีพและทัศนคติซึ่งพระองค์ท่านทรงได้พระราชทานแนวพระราชดำริ และวิธีการไว้อีกหนึ่งช่องทางสำคัญ คือ มีหนังสือการ์ตูนที่จะสื่อให้คนเรียนรู้ธรรมชาติของช้าง นิสัยของช้าง ได้ศึกษาว่าจะทำมาหากินในพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของช้างได้อย่างไร โดยที่ช้างไม่มาเบียดเบียน อาทิ การปลูกพืชสมุนไพร ปลูกต้นไม้ และโดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้ง ส่วนตัวผมเองมีความประทับใจเพราะเราเคยมีกลุ่มจิตอาสา หญิงเก่ง OTOP ของกรมการพัฒนาชุมชนที่จังหวัดเชียงราย ที่ทำมาหากินด้วยอาชีพเลี้ยงผึ้ง เราก็ไปชวนเขามาช่วยในโครงการนี้เพราะมีชาวบ้านสนใจเลี้ยงผึ้ง เข้ามาเรียนรู้สอนเทคนิค กลเม็ดต่างๆที่จะทำให้ได้ผลดีจากประสบการณ์ตรง ตอนนี้ชาวบ้านก็รู้แล้วว่าถ้าเป็นผลไม้อะไรที่หอมหวานช้างจะชอบ เงาะลำไย ดังนั้นถ้าปลูกอะไรที่มีกลิ่นมีรสชาติขมช้างก็จะไม่ชอบ พืชที่มีหนามช้างจะไม่ชอบ ที่สำคัญช้างกลัวผึ้งต่อยก็เลยมีอาชีพตรงนี้มาต่อยอด


ขณะนี้สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนอีกหนึ่งประเด็น คือ การให้ชุมชนได้มีโอกาสนำเอาจุดที่น่าสนใจได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ว่าทำไมคนสามารถอยู่กับช้างได้ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอะไรต่างๆที่น่าสนใจผ่านการท่องเที่ยวเรียนรู้ ซึ่งทางกรมฯได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในการช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีโอกาสขายจุดเด่นจุดแข็งชุมชนตัวเองให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก็คือเรื่องการทำให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านอุ่นใจว่าจะได้รับการเยียวยาและการดูแลหรือเป็นสวัสดิการจากท้องถิ่นหรือจากราชการ ให้พวกเขารู้สึกว่าน่าพอใจในจำนวนการเยียวยาที่เพียงพอกับความเสียหายและมีความเข้าใจที่ตรงกันกับหน่วยงานราชการ หน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะวางทั้งระบบที่เป็นสวัสดิการในพื้นที่ซึ่งโครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงใส่พระหฤทัย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดูแลประชาชนทุกคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปี ที่เป็นอธิบดี พช. มีอีกโครงการหนึ่งที่ภาคภูมิใจมาก คือ ในช่วงที่โควิด -19 ระบาดระลอกแรก ประชาชนค้าขายลำบากแต่เราโชคดีที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองไว้ และทรงเป็นต้นแบบของโครงการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร พช.เราได้น้อมนำและศึกษาดูงานจากตำบลโป่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ที่มีกำลังสำคัญคือท่านนายก อบต.ท่านปลัด และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันซึ่งเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เขาสามารถที่จะใช้พื้นที่รอบ ๆ บ้านปลูกพืชผักสวนครัวมากกว่า 20 ชนิด ทาง พช.- พัฒนาการจังหวัดที่ไปดูงานและถอดบทเรียน สู่แผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยที่พวกเราจะรณรงค์ต่อเนื่องให้เป็นวัฒนธรรมการปลูกผัก ให้กลายเป็น DNA ในประชาชน โดยน้อมนำตามแนวพระราชดำริ มาใช้ขับเคลื่อนทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือและผลตอบรับอย่างดีมาก

การปลูกผักสวนครัวกินเอง ถือว่าเป็นแสงสว่างในด้านการแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ คนไทยจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะกินผักที่มีสารเคมี มีสารพิษตกค้าง เป็นโรคร้ายแรงมากมาย ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บจากผลพวงของยาฆ่าแมลงยังมีอยู่เยอะ ถ้าเราปลูกผักไว้เป็นอาหารกินเอง ก็จะช่วย แก้ไขปัญหานี้ได้ อีกส่วนหนึ่ง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มาช่วยคิดโครงการนี้จะเป็นส่วนช่วยประหยัดเงินลดรายจ่ายอย่างมาก เพราะถ้าคิดเป็นตัวเลข ต้องซื้อผัก 50 บาทต่อวัน 12 ล้านครัวเรือน ถ้าลดภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ทั่วประเทศ ในหนึ่งวันเราจะสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินในกระเป๋า ไม่ต้องไปซื้อผักตามรถพุ่มพวง ไม่ต้องไปตลาด ถ้าคิดจากพื้นฐานตัวเลขตัวนี้จะช่วยประหยัดเงินได้มากถึงวันละ 600 ล้านบาท ปีหนึ่งก็ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท พอลดค่าใช้จ่ายตรงนี้จะทำให้มีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋า เขาสามารถเอาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น นำไปลงทุน ทำมาหากิน อื่น ๆ

สำหรับโครงการนี้พี่น้องกรมการพัฒนาชุมชนทุกคนรู้สึกมีความสุขมากในการรณรงค์ขับเคลื่อน พวกเราได้ต้นแบบจากพระองค์ท่าน และมีทางภาคเอกชน ทางมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วยกันมาก เช่นช่วยบริจาคเมล็ดพันธุ์ อย่างตอนนี้ถ้าเป็นโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน ก็จะมีภาคีเครือข่าย มาลดแลกแจกแถมกันเต็มที่เพื่อส่งเสริมการปลูก เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากให้พี่น้องทุกครัวเรือนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ตามแนวพระราชดำริ

ตัวผมและประธานสภาสตรีแห่งชาติฯก็ปลูกผักกินเองไว้จำนวนมาก เพราะเรามีหลักการว่า ผู้นำต้องทำให้เห็นก่อน หากเราจะพัฒนาอะไร จะต้องเริ่มจากตัวเราเองทำให้ดู ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนหากจะชวนชาวบ้านปลูกผักสวนครัวก็ต้องเริ่มจากปลูกเองก่อน สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ขับเคลื่อนจนเห็นผลทั่วประเทศ


ในวิกฤตครั้งนี้เราทราบดีว่ายังมีคนเดือดร้อนกระจายอยู่ทั่วประเทศ และโชคดีที่รัฐบาลได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่มีโครงสร้างถึงระดับอำเภอและจังหวัด เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่ประสานงาน ในการช่วยเหลือชาวบ้าน เราก็ขับเคลื่อนขยายผลให้บังเกิดผลมากขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของผมที่ได้มาดำรงตำแหน่งอธิบดี พช ซึ่งได้ช่วยพลิกชีวิตชาวบ้านมากมายให้รอดพ้นวิกฤตและสามารถมีกินมีใช้ในพื้นที่ตัวเองได้ รวมกันอีกหลาย ๆ โครงที่การเราได้ขับเคลื่อนตลอด 2 ปีที่มาดำรงตำแหน่ง ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น