เกษตรฯ ดันแผนขับเคลื่อนโลจิสติกส์-โซ่อุปทานภาคเกษตร รองรับเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ปลายปี 2564

การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนอย่างเต็มรูปแบบในระยะยาว จะเป็นโอกาสที่ดีของไทย ทำให้มีทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น และคาดว่า จะทำให้การส่งออก-นำเข้าของทั้งลาวและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง เตรียมพร้อมเพื่อผลักดันในช่องทางการค้าดังกล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ปลายปี 2564 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศหรือประเทศที่สาม เช่น การพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ร่วมกับกรมศุลกากร และการปรับลดขั้นตอนในการนำเข้าส่งออกของหน่วยงานในสังกัด ทั้งกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ยุ่งยากออกไป โดยปัจจุบัน กษ.สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ 117 ธุรกรรม จากทั้งหมด 143 ธุรกรรม คิดเป็น 81.82% และสามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานสำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็งและวัตถุอันตราย ได้ 66 รายการ จากทั้งหมด 74 รายการ คิดเป็น 89.19% ส่วนที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ได้กำชับให้หน่วยงานเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 เพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว-จีน


การขับเคลื่อนงานโลจิสติกส์ของ กษ. ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการในชุดนี้

โดยล่าสุดการประชุมคณะกรรมการ กบส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแนวทางการพัฒนาระยะเร่งด่วนให้พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนธ.ค. 2564 รวมทั้งระยะปานกลาง และระยะยาวในช่วงที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ


“ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 เรื่อง เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการขนส่งสินค้าเกษตร ที่อาจยุ่งยากกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาระบบ NSW และปรับลดขั้นตอนในการนำเข้าส่งออกของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 2.จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน ระยะเร่งด่วน-ปานกลาง-ยาว เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในสิ้นปี 2564 และเตรียมความพร้อมไว้ระหว่างรอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จในระยะยาว และ 3.เร่งเจรจาเพื่อลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการ กักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม เพื่อสามารถให้บริการได้ภายใน สิ้นปี 2564″


และเนื่องจากสินค้าเกษตรมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละชนิดสินค้า ซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ 1.มิติต้นทุน กรณีส่งออกผลไม้สดจะมีเรื่องของการสูญเสียระหว่างขนส่งมากกว่าสินค้าแปรรูป ซึ่งความสดใหม่และการเน่าเสียจะง่ายกว่า จำเป็นต้องใช้เทคนิคในการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการกระแทก และรักษาคุณภาพของผลผลิตมากกว่าสินค้าแปรรูป และ 2.มิติเวลา กรณีส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปแช่แข็ง จำเป็นต้องใช้การขนส่งที่เหมาะสมด้วยระบบ cold chain เข้ามาช่วยรักษาคุณภาพของสินค้า ให้ไม่เกิดการเน่าเสีย

นอกจากนี้ จากปัญหาสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกทางรางจากด่านหนองคายจะไปสุดปลายทางที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งยังไม่เชื่อมต่อจุดที่ขนส่งทางรางไปยังจีน ดังนั้น สินค้าจะต้องถูกเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟไปสู่รถบรรทุกขนส่ง ณ ท่านาแล้ง สู่สถานีคำสว่างของลาว ระยะทาง 15-20 กม. ถึงจะเปลี่ยนถ่ายจากรถบรรทุกขนส่งไปยังรถไฟก่อนส่งต่อไปยังจีนได้ ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากรถไฟ-รถบรรทุก-รถไฟ จะต้องใช้ระยะเวลาในการขนถ่าย ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดี จะเป็นปัญหาของการขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทย-ลาว-จีน ต้องหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน

ในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิต ควรเน้นในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้ มาตรฐานการส่งออก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญและส่งเสริมเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ในระยะแรกที่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาความ คุ้มค่าในการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางดังกล่าวให้รอบคอบ เนื่องจากมีจุดที่ขาดการเชื่อมโยง Missing link ระยะทาง 15-20 กม. ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าตามที่กล่าว


สรุปคือการเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการค้าสินค้าเกษตรไทยไปยังจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยเมื่อปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน 314,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 281,577 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ยางธรรมชาติ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ/สัตว์ ข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนมายังไทย 53,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 52,944 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมายังไทย ได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ผักและผลิตภัณฑ์ พืชอาหาร และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์