มองโอกาส และอุปสรรค ตลาดพลาสติกรีไซเคิลในไทย

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากร ไม่เพียงส่งผลต่อความกังวลต่อการขาดแคลนอาหาร และที่อยู่อาศัยในอนาคต แต่ยังมีการคาดการณ์ว่า ผลจากการทำกิจกรรมของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘พลาสติก’ ก็ได้กลายเป็นตัวร้ายทำลายโลกจากมุมมองของคนทั่วไปเป็นที่เรียบร้อย

จากข้อมูลการประเมินสัดส่วนการใช้พลาสติกในกลุ่มอุตสาหกรรมปลายทาง (End-used sector) ทั่วโลกมีแนวโน้มและการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงอุตสาหกรรมปลายทาง (End-used sector) พบว่า กลุ่มของบรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้มากที่สุด เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างมาก

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme


สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทย จากข้อมูลการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกแยกตามประเภทของอุตสาหกรรมปลายทางในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดพลาสติกในการผลิตสูงที่สุดคือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกรวม รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนสำหรับงานก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในแต่จะวันของคนเราทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันนี้ ผลจากการอยู่บ้านและล็อกดาวน์ ได้ก่อให้เกิดขยะพลาสติก จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึงปีละ 2 ล้านตัน โดยขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ล้านตัน เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีการปนเบื้อนยากต่อการกำจัด เช่น ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว รวมถึงแก้วและหลอดพลาสติกต่างๆ ที่เกิดจากการส่งอาหารออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ

ดังนั้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานจึงมีแนวคิดเรื่อง ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรีไซเคิลพลาสติกภายในประเทศไทย ซึ่งจากปัจจัยการปกป้องสิ่งแวดส้อมโลก และค่านิยมเรื่องการอนุรักษ์ ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้ ‘พลาสติกรีไซเคิล’ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทย

ปัจจุบันผู้ประกอบการ เริ่มมีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องใช้ในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สัมผัสอาหาร รวมถึงชิ้นส่วนพลาสติกในอุตสาหกรรมมากขึ้น

ขณะที่บรรจุภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ที่ค่อนข้างมากนั้น แต่กลับพบว่า ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET หรือ rPET) ในการผลิตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยตามคำประกาศ คือ

“ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้น เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทย จึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่และปริมาณขยะพลาสติกปลายทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้พลาสติกรีไซเคิลกับบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารซึ่งในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล แต่ก็มีหน่วยงานเอกชนได้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องให้กับคนในสังคม เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นอีกด้วย


สำหรับเรื่องกฎหมายที่ไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้น ปี 2562 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งจะมีการจัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าจะมีประกาศภายในปีนี้