ฮาลาลเดลิเวอรี ‘พินซูก’ แพลตฟอร์มคนไทย มองไกลสู่ครัวมุสลิมโลก

ตลาดขายของออนไลน์’ สัญชาติไทย

หากพูดถึง Marketplace ยอดฮิต อย่างแพลตฟอร์มชื่อดัง Shopee หรือ Lazada ส่วนใหญ่คงร้องอ๋อ แต่หลายคนรู้หรือไม่ว่า คนไทยก็สามารถรังสรรค์แพลตฟอร์ม ตลาดขายของบนโลกออนไลน์ได้เหมือนกัน โดยคุณชารีฟ เด่นสุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด ได้ใช้ความรู้ในการเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเรียน ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สร้าง Pinsouq (พินซูก) แพลตฟอร์มคนไทย สำหรับขายวัตถุดิบอาหารฮาลาลแบบครบวงจร พร้อมเดลิเวอรีทั่วประเทศ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

จากแพลตฟอร์มขายสินค้าสู่แพลตฟอร์มขายอาหาร

คุณชารีฟ เด่นสุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด เผยว่า เริ่มทำแพลตฟอร์ม Pinsouq (พินซูก) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยบริษัทสร้างแพลตฟอร์มคล้ายกับ Shopee, Lazada มีเป้าหมายคือกลุ่มฮาลาล (คนมุสลิม) โดยจำหน่ายสินค้าค่อนข้างหลากหลาย เช่น ผ้าคลุมผม เสื้อคนมุสลิม อินทผาลัม อาหารต่างๆ ที่ผู้ประกอบการมุสลิมผลิตก็จะนำมาจำหน่ายใน พินซูก

หลังจากแพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้รับโอกาสจากทางภาครัฐก็คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการนำสินค้าของ SME มาจำหน่ายใน Pinsouq ทำให้เห็นโอกาสนอกจากสินค้าออนไลน์ทั่วไปยังมีสินค้าอีกหนึ่งประเภทซึ่งก็คือ ‘อาหารแช่แข็ง ที่มีความต้องการสูงแต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจร ด้วยสาเหตุเนื่องจากเรื่องของน้ำหนักสินค้า ค่าจัดส่ง เป็นต้น

แฮส ออเดอร์’ ‘แฮส ออเดอร์’ จึงมีแนวคิดดังกล่าวต่อยอดการจำหน่ายอาหารแช่แข็ง ด้วยการเพิ่มจำนวนสาขาไปยังจังหวัดที่มีความต้องการสูง แล้วบริษัทก็นำสินค้าของผู้ประกอบการมาแช่แข็งไว้ แล้วเดลิเวอรีเมื่อลูกค้าสั่งซื้อภายในจังหวัด

“การหันมาเน้นจำหน่ายอาหารแช่แข็งบนแพลตฟอร์ม นอกจากจะดีกับธุรกิจเองแล้วยังมีประโยชน์กับผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสดภายในจังหวัดด้วย ช่วยสร้างโอกาส – ต่อยอดทางธุรกิจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้”


ลักษณะธุรกิจแพลตฟอร์ม Pinsouq เป็นอย่างไร

คุณชารีฟ กล่าวว่า ธุรกิจเป็นลักษณะของแพลตฟอร์มสำหรับส่งวัตถุดิบแช่แข็งตามร้านอาหารเกรดพรีเมียม เช่น เนื้อจากประเทศออสเตรเลีย แซลมอนนิวซีแลนด์ เนื้อสเต็กต่างๆ เฟรนช์ฟราย หลังจากลูกค้าสั่งซื้อใน ‘พินซูก บริษัทก็จะจัดส่งเดลิเวอรีตามสถานที่ต่างๆ เป็นลักษณะของแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันมีสาขา 6 แห่งคือ กรุงเทพฯ, จ.ปทุมธานี, จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จ.ยะลา, จ.ปัตตานี, จ.นราธิวาส โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสนค้าผ่านหน้าร้านหรือทางออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดีย, LINE MyShop โดยทุกช่องทางที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้า ข้อมูลจะถูกเก็บรวบรวมที่ศูนย์กลางกลายเป็น Big Data ของธุรกิจ

2 Pain Point เหตุผล ‘พินซูก’ เลือกเน้นด้านอาหาร

กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด เล่าว่า เหตุผลที่เลือกมาเน้นด้านอาหารฮาลาล เนื่องจากการเปิดแพลตฟอร์ม Marketplace ทำให้มีข้อมูลในระบบ เมื่อนำมาวิเคราะห์โดยแบ่งหมวดหมู่ตามการสั่งซื้อ ว่าหมวดหมู่ไหนมีการสั่งมากที่สุด ซึ่งก็คือหมวดเครื่องแต่งกาย เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้ประกอบการนำมาจำหน่ายในแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ขณะที่ ‘อาหาร’ มาเป็นอันดับ 2

แฮส ออเดอร์’ จึงวิเคราะห์ต่อว่าระหว่างแฟชั่นกับอาหาร หมวดหมู่ไหนน่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ซึ่งเครื่องแต่งกายร้านค้ามีการโพสต์ขายในโซเชียลมีเดียหรือเพจตัวเองอยู่แล้ว บริษัทจึงคาดการณ์ว่าผู้บริโภคน่าจะเข้าถึงสินค้าได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นการสร้างแพลตฟอร์มเน้นเฉพาะแฟชั่นจึงอาจไม่เหมาะ ด้วยเหตุนี้ พินซูก’ จึงเลือกลำดับที่ 2 ซึ่งก็คือหมวดอาหาร

“อาหารฮาลาลร้านค้าปลีกติดปัญหาเรื่องการจัดส่ง ค่าส่งราคาแพง จึงไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้า ดังนั้นแฮส ออเดอร์จึงคิดว่าอาหารนี่แหละ น่าจะเป็นโอกาสทางด้านธุรกิจที่ดีที่สุด ด้วยการตอบโจทย์ 2 Pain Point ดังกล่าว”

Business Model ‘พินซูก

ในเรื่องนี้ คุณชารีฟ เผยว่า ตนเองดูแลด้านมาร์เก็ตติ้งทั้งหมดโดยวางเป้าหมายไว้ว่า ‘Pinsouq’ จะเป็น Local Expert ซึ่งเชี่ยวชาญในระดับ Local โดยที่ซัพพลายเออร์หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ นำสินค้ามาไว้กับบริษัท แล้วแฮส ออเดอร์จะทำการตลาดให้

ส่วนด้านโลจิสติกส์ บริษัทมีพาร์ทเนอร์ก็คือโลจิสติกส์ห้องเย็น ช่วยจัดส่งสินค้าจากศูนย์กลางไปยังแต่ละสาขา จากนั้นจะมีรถขนส่งจัดส่งสินค้าเดลิเวอรีซึ่งเป็นในส่วนของบริษัท ปัจจุบันมีซัพพลายเออร์ขนาดใหญ่จำนวน 20 ราย หากรวมรายเล็กด้วยจะมีประมาณ 60 ราย และมีรายการอาหารแช่แข็งประมาณ 400 SKUs

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ในแพลตฟอร์ม ‘Pinsouq’

กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด เล่าว่า บริษัทมีทีมเทคโนโลยีโดยเฉพาะ โดยเป็นทีมที่ไม่ได้ทำในเชิงซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย แต่เป็นการนำ Pain Point ที่พบเจอภายในองค์กรมาทำเป็นเซอร์วิสใช้เป็นการภายใน เมื่อรู้สึกว่าเซอร์วิสที่ใช้มีความยั่งยืนจึงคิดค้นออกมาเป็น Software-as-a-Service (SaaS) การให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ ในระบบ Cloud เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกทั้งลูกค้าและซัพพลายเออร์ในแพลตฟอร์ม พินซูก

นอกจากนี้ แฮส ออเดอร์ ยังมีโปรเจกต์ในอนาคตอันใกล้ที่มีชื่อว่า ของชำ โดยเป็นการนำ Software-as-a-Service ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการใน ERP (Enterprise Resource Planning) ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนการจัดการ โดยจะมีการรวมข้อมูลทุกอย่างบันทึกไว้ใน Database ทั้งหมด มาเป็นเซอร์วิสให้กับร้านขายของชำโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม ของชำ’ ช่วยให้บริษัททราบข้อมูลทั้งหมด เช่น การซื้อ – ขาย จำนวนสินค้า เชื่อมกับ POS (Point of sale system) หรือระบบขายหน้าร้าน เพื่อบริหารสต็อกทั้งระบบ เพื่อให้ร้านขายของชำกลายเป็น Smart Retail

ทิศทาง ‘พินซูก’ จะเป็นอย่างไรในอนาคต

คุณชารีฟ เผยว่า ในอนาคตคาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคเนื้อจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีเทรนด์ต่างๆ เช่น วีแกน การบริโภคโปรตีนจากพืช หรือการนำพืชมาผลิตเป็นเนื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้คนยังให้ความนิยมในการรับประทานเนื้อจริง บวกกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะคนมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปริมาณความต้องการอาหารฮาลาลก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อรวมกับชื่อเสียงของประเทศไทยในเรื่องการส่งออกสินค้าฮาลาลซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยรสชาติถูกปากกลุ่มประเทศที่รับประทานฮาลาล มีอาหารที่ชาติอื่นไม่มี บริษัทจึงเกิดแนวคิดทำให้เมืองไทยเป็นครัวฮาลาลโลก

ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเกิดขึ้นจริงผลประโยชน์จะกลับมาอยู่กับประเทศของเรา ผู้ประกอบการธุรกิจเติบโต สามารถสร้างอาชีพให้กับผู้คนเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็มีรายได้จากภาษีต่างๆ

“อาหารฮาลาลไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนมุสลิมทำเท่านั้น แต่ใครก็สามารถทำได้ขอแค่ทำให้ได้ตามมาตรฐานฮาลาล”

พินซูก แพลตฟอร์มของคนไทย ถือเป็นอีกหนึ่ง Sharing Economy เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน สามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสินค้า ผู้ให้บริการ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้เน้นการเติบโตแบบลุยเดี่ยว แต่ใช้พลังของการแบ่งปันและความร่วมมือ ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ที่ตอบรับความต้องการของผู้คนทั่วประเทศ

โดย Key Business ก็คือระบบการบริหารจัดการที่ ‘Pinsouq’ มีความชำนาญ สามารถสร้างระบบช่วยลดแรงงานคน คิดค้นเทคโนโลยีตอบโจทย์ Pain Point ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยการบริหารธุรกิจสามารถกลายเป็น Repaste Model ในต่างประเทศได้ ด้วยการใช้ Business Model แบบเดียวกัน ซึ่งอาจจะหนึ่งในเหตุผลทำให้แนวคิดของคุณชารีฟ เด่นสุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด ประสบความสำเร็จในการทำให้เมืองไทยกลายเป็นครัวฮาลาลโลก

รู้จัก ‘บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่

https://pinsouqstore.com/

https://www.facebook.com/pinsouqstore/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333