หลาก Gen ต่างสไตล์ ออฟฟิศยุคใหม่ รับมือความแตกต่างนี้อย่างไร

แม้ทั่วโลกจะปรับตัวสู่การทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working) ทว่าในความเป็นจริงสังคมออฟฟิศก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกการทำงานต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่สังคมออฟฟิศของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องมาทำงานร่วมกันกับคนต่างวัย และด้วยวัยที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจและการสื่อสารอาจจะเป็นอะไรที่ไม่ง่ายนัก ดังนั้น การรับมือเรื่องนี้เราจึงมองว่าสำคัญ

เข้าถึงยาก แต่เข้าใจได้

พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึงกลุ่ม First Jobber หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มเข้าสู่โลกของการทำงานได้ไม่กี่ปี ที่อาจจะมีบุคลิกและการแสดงออกที่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและเพื่อนร่วมงานยุคเก่า จะต้องเข้าใจก่อนว่า ด้วยบุคลิกและการแสดงออกไม่ได้สะท้อนว่าพวกเขาทำงานดีหรือไม่ดี เพียงแต่วิธีการทำงาน หรือวิธีการแสดงออกของพวกเข้า อาจจะแตกต่างไปบ้าง ดังนั้น การดึงศักยภาพของกลุ่ม First Jobber จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่งในที่นี้เราก็มีคำแนะนำที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้เพื่อการรับมือ First Jobber เหล่านี้ได้อย่างอยู่หมัด แถมงานยังราบรื่นอีกด้วย

เรียนรู้สิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจ

ก่อนที่จะรีดเค้นศักยภาพของใคร ก่อนอื่นต้องเข้าใจตัวตนและความสนใจเขาเหล่านั้นด้วย ดังนั้น หากอยากดึงความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ นอกจากการเปิดกว้างในการแสดงออกแล้ว ยังควรที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับพฤติกรรมและความสนใจในเรื่องต่างๆ ด้วย เพื่อนำมาคิดไตร่ตรองก่อนว่า ควรที่จะพัฒนาศักยภาพของ First Jobber ไปในทิศทางใด รวมถึงการรับฟังให้มาก ตัดสินให้น้อย จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นทีมเวิร์คได้

มีแพสชั่นและความมั่นใจ แต่ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

สิ่งหนึ่งที่เจอบ่อยๆ คือ พนักงานรุ่นใหม่ประเภทที่เซย์เยสกับทุกโปรเจ็กต์ แต่ไม่ยอมลงมือทำจริงจัง หรืออาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง เพราะด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย แต่ความมั่นใจที่สูงเกินกว่าเหตุเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ หรือ First Jobber ไม่ได้ไปต่อในองค์กร ดังนั้น ผู้ประกอบการ หรือหัวหน้างานอาจจะต้องช่วยกันประคับประคอง ‘แพสชั่นและความมั่นใจ’ ให้คงอยู่ต่อไป และนำพวกเขาออกมาสู่โลกแห่งความจริง รวมถึงคอยเป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลังในงานที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ อันจะช่วยให้พวกเขามั่นใจว่ากำลังทำในสิ่งที่มีคุณค่า สร้างความแตกต่าง และมีประโยชน์ต่อองค์กร

ถ้า First Jobber ขอเลื่อนตำแหน่งจะทำอย่างไร

ความเก่งไม่จำกัดที่ ‘อายุ’ แต่ประสบการณ์ถูกจำกัดโดยอายุ ดังนั้น ความเหมาะสมในการที่จะได้รับการเลือนตำแหน่งส่วนใหญ่จึงต้องมาจากผลงาน บวกประสบการณ์ ขณะที่ First Jobber เมื่อผ่านการทำงานไปซัก 4-5 ปี จะเกิดความรู้สึกว่า ที่ผ่านมาได้ฝากผลงานที่ยอดเยี่ยมไว้มากมาย

ดังนั้นจึงเป็นคนที่สำคัญต่อองค์กร เป็นคนที่มีศักยภาพสูง และแน่นอนย่อมคิดถึงเรื่องการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง และอาจรวมถึงการขอตำแหน่งจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เรื่องนี้หัวหน้างานหรือเจ้าของธุรกิจอาจจะมองว่าเป็นเรื่อง ขำๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ตลกเลยสักนิด

เพราะเรื่องที่ควรทราบ คือ คนรุ่นใหม่ที่มีชุดความติดที่ ‘แตกต่าง’ กว่าคนรุ่นเก่าๆ มาก และกำลังมองหาอะไรที่ท้าทาย ดังนั้นนายจ้างจึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่าการท้าทายแบบไหนที่สามารถเป็นจริงสำหรับพวกเขาได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอาจจะหมายถึงตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แต่ควรจะมีขอบเขตที่เหมาะสม เพราะอย่ามองว่าเขาเหล่านั้นยังอายุน้อย หรือวุฒิภาวะยังไม่มากพอ เพราะหากเขาเหล่านั้นทำได้จริง ก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่องค์กรจะได้มีหัวหน้างานเก่งๆ เพิ่มขึ้น

แต่ไม่ควรบอกในทำนอง “อีกปีนึงค่อยมาคุยกัน” หรือค่อยว่ากัน เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า คนที่คุณปลุกปั้นมาอย่างยากลำบาก จะหนีคุณไปในท้ายที่สุด

สุดท้ายแล้ว พื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจ และมีน้ำใจต่อกันระหว่างคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ๆ จะเป็นสายใยบางๆ ที่ถักทอให้เหนียวแน่นได้ เพราะแม้จะจะเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้ไม่สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องอย่างแท้จริง แต่ก็มากพอที่จะทำให้เกิดความวางใจ เชื่อใจ และให้ความร่วมมือด้วยใจจริงในการทำงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้แม้จะทำยาก วัดผลยาก แต่เกิดขึ้นได้จริงแน่นอน

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333