สดช. แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ชี้วัฒนธรรมไทยไปไกลระดับโลกเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยหลัก 4 ประการ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงผลสำเร็จโครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล  มีภารกิจเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน  โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) โดยข้อสรุปชี้ว่า ยังมีคลังมรดกวัฒนธรรมไทยที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าอีกจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่ยังไม่ถูกทำให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีโอกาสไปไกลระดับโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง ภายใต้แนวคิด 4  ประการ คือ Cultural Heritage Content, Digital, Collaboration และ Empower ณ  โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “ภารกิจทั้งสองด้านของโครงการ Digital Cultural Heritage สำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สดช. เล็งเห็นว่า มรดกวัฒนธรรมไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่มีชาติไหนเหมือน ปัจจุบันมีมรดกวัฒธรรมไทยที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง ภาพยนตร์ไทย แฟชั่น ศิลปะการต่อสู้ อย่างมวยไทย และเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีมรดกวัฒนธรรมไทยอีกจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ผ้าทอลายสร้อยดอกหมากของจังหวัดลำปาง พระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องตุ๊บเท่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทอดทิ้งละเลยให้สูญหายไปตามกาลเวลา ทั้ง ๆ ที่มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ คือ ซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างชื่อเสียงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วิธีแก้ไขต้องเริ่มจากรากเหง้าหรือท้องถิ่นทำหน้าที่อนุรักษ์ รวบรวม คัดเลือก ระดมไอเดียและต่อยอดร่วมกันทุกภาคส่วน แล้วใช้ระบบดิจิทัลเป็นตัวคูณ พร้อมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ”

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีของการขับเคลื่อนโครงการ Digital Cultural Heritage ทั้งในส่วนของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) จำนวน 6 ครั้ง และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ที่เชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมไทย “เห็นแต่ไม่เคยรู้” ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ AR อินโฟกราฟฟิก  “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ซึ่งได้มีการจัดงานมอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 110,000 บาท ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง สดช. ได้ค้นพบข้อสรุปสำคัญ 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก Cultural Heritage Content หรือมรดกวัฒนธรรมจะไปสู่ระดับโลกผ่านระบบดิจิทัล ควรเริ่มจากพื้นที่ หรือท้องถิ่น ความเข้มแข็งของพื้นที่ ประการที่สอง Digital โดยนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเป็นตัวคูณที่จะทำให้เกิด Impact และ Scale เกิดผลกระทบและขอบเขตได้อย่างกว้างไกลสุดที่จะประเมินได้ ทั้งในมุมของการเก็บรวบรวม การเผยแพร่ และการต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคมแบบทวีคูณ ประการที่สาม Collaboration ความท้าทายของประเทศ คือ การทำงานร่วมกัน เนื่องด้วยมรดกทางวัฒนธรรมมีความลึกซึ้งและหลากหลาย การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ เช่นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ที่ผ่านมา มีนิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดถึง 66 ทีม บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุน ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ร่วมบรรยายพิเศษสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ I Roam Alone ถ่ายทอดทำดิจิทัลคอนเทนต์ทางวัฒนธรรม เกิดพลังเครือข่าย Collaboration& Network ประการสุดท้าย Empower  ภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่ในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่จะต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลในอนาคต ซึ่งพลังความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ของคนรุ่นใหม่น่าสนใจมากมาย ต้องกระตุ้นผ่านกระบวนการ เรียนรู้-เล่น-ภาคภูมิใจ

ส่วนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab จัดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง เป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลกได้รับการคัดเลือกเป็นจังหวัดนำร่อง ได้ข้อสรุปกรอบยุทธศาสตร์ในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติทั้งหมด 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1) การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ต้องสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่จึงจะสามารถขยายผลระดับประเทศได้ 2) ส่งเสริมการจัดเก็บมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสการต่อยอดดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในวงกว้าง 3) ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากผลการสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจโดยยังคงคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไว้ และ 4) เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนจากจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “แม้ว่าจังหวัดของเราจะมีมรดกวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คนทั่วไปกลับรู้จักเพียงไม่กี่อย่าง ทำให้เราดีใจมากที่ได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะในโครงการนี้ เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการยกระดับมรดกวัฒนธรรมของจังหวัดทั้งในรูปแบบของ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ดิจิทัลโทเคน (Digital Token) และดิจิทัลคอนเทนท์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ที่มีความรักในมรดกวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก มารวมตัวกันเพื่อหาแนวทางสืบสานและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นโมเดลแบบอย่างที่จังหวัดอื่น ๆ ที่มีมรดกวัฒนธรรมของตัวเองควรได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน”

ขณะที่ ดร.กษิติธร ภูภราดัย  รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “DEPA มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก และสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โครงการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัลของ สดช. ที่ผ่านมา ทั้งการทำงานกับพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก จนเกิดโครงการต้นแบบหลายโครงการ และกิจกรรมนำร่องในรูปแบบ Hackathon ที่ให้เยาวชนนำเรื่องวัฒนธรรมมาถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้เห็นว่ายังมีมรดกวัฒนธรรมอีกมากมายที่แอบซ่อนอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รอที่จะได้เป็นที่รู้จัก หากเผยแพร่ผ่านเครื่องมือดิจิทัล ก็จะเกิดประโยชน์ย้อนกลับไปสู่ชุมชนหรือพื้นที่เจ้าของมรดกวัฒนธรรมนั้น ๆ ซึ่ง DEPA เองมีเครือข่ายในระดับพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่พร้อมจะสนับสนุนให้ทุกท้องถิ่นได้นำเอาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “ที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ผลสำเร็จจากโครงการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัลด้วย จึงเห็นว่ายังมีมรดกวัฒนธรรมของชาติอีกมากมายในทุกพื้นที่ ทุกท้องถิ่น และงมีความเสี่ยงที่จะสูญหายหากไม่รักษาไว้ การนำเครื่องมือดิจิทัลมาถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นการรักษาแล้ว ยังเกิดประโยชน์กับพื้นที่ทั้งในด้านเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ สร้างความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด ความสมัครสมานสามัคคีของคนในพื้นที่ ในนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับสดช. นำข้อเสนอจากโครงการนี้ ไปสนับสนุน ส่งเสริม ต่อยอด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป”


สุดท้าย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปว่า “สดช.จะนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากโครงการ  Digital Cultural Heritage ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไป  รวมทั้งสนับสนุนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรม พร้อมทั้งจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง”